หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land Release นั้น คือการเลือกพื้นที่ในสุ่มตรวจ หากสามารถเลือกพื้นที่ในการสุ่มตรวจได้อย่างมีคุณภาพ เป็นตัวแทนของพื้นที่นั้นๆ ได้แท้จริงแล้ว จะให้ทำมีความเชื่อมั่นว่าพื้นที่นั้นมีความปลอดภัยสูง
คำถามมีอยู่ว่า หากผลการสำรวจที่ไม่ใช่ทางเทคนิค (NTS) ระบุออกมาว่า พื้นที่ A มีขนาด 1,000 ตร.ม. เป็นพื้นที่ที่ต้องการการสำรวจทางเทคนิคแบบปกติ (Normal Technical Survey : NMTS) โดยใช้อัตราการสุ่มตรวจร้อยละ 20 ของพื้นที่ นั้นหมายถึงผู้ปฏิบัติงานต้องทำการสุ่มตรวจในพื้นที่ A นี้ ให้ได้พื้นที่อย่างน้อย 200 ตร.ม. ซึ่งพื้นที่ 200 ตร.ม.ที่เลือกนั้น จะต้องเป็นตัวแทนพื้นที่ 1,000 ตร.ม. ได้อย่างแท้จริง
หากเทียบกับการวิจัย ประชากรในการวิจัย ก็คือ พื้นที่ 1,000 ตร.ม. กลุ่มตัวอย่าง ก็คือ พื้นที่ 200 ตร.ม. นั้นเอง ดังนั้นการเลือกกลุ่มอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรที่แท้จริง จะทำให้งานวิจัยมีความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy)
วิธีการสุ่มตัวอย่างในงานวิจัย จำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Nonprobability sampling) และการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น (Probability sampling) โดยสามารถแยกได้ดังนี้[1]
- การสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Nonprobability sampling) การสุ่มตัวอย่างในลักษณะนี้ ที่เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กัน มีดังนี้
- การเลือกตัวอย่างโดยบังเอิญ (Accident Sampling)
- การเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
- การเลือกตัวอย่างแบบกำหนดโควตา (Quota Sampling)
- การเลือกตัวอย่างแบบก้อนหิมะ (Snowball Sampling
- การสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น (Probability sampling) การสุ่มตัวอย่างในลักษณะนี้ ที่เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กัน มีดังนี้
- การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling)
- การสุ่มตัวอย่างอย่างมีระบบ (Systematic Random Sampling)
- การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling)
- การสุ่มตัวอย่างแบบยกกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
- การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Random Sampling)
จากวิธีการสุ่มตัวอย่างที่กล่าวมา ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า พื้นที่ 200 ตร.ม. ที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเลือกเพื่อสุ่มตรวจนั้น จะเลือกใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีใดที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดต่อการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดในพื้นที่ A
จากภาพด้านบน ภาพพื้นที่เดียวกัน ใช้วิธีการสุ่มตรวจพื้นที่แตกต่างกัน แต่ได้พื้นที่สุ่มตรวจร้อยละ 20 เท่ากัน มีคำถามว่า แล้วจะใช้อะไรเป็นตัววัดว่า วิธีใดที่มีคุณภาพ มีการยอมรับ และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด
ปัจจัยที่ผู้ปฏิบัติงานควรจะนำมาพิจารณาว่าจะเลือกใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบไหน น่าจะประกอบด้วย (ดูภาพด้านล่างประกอบ)
P(TRIP ∩ DO) + Q ------> QRS
Q = Quality (คุณภาพ)
- ข้อมูลข่าวสารเริ่มแรกที่ผู้ปฏิบัติงานใช้ในการแบ่งพื้นที่ CHA ออกเป็นพื้นที่ย่อยในขั้นการสำรวจที่ไม่ใช่ทางเทคนิค (NTS) ขั้นนี้จึงเป็นขั้นที่สำคัญที่สุดของกระบวนการการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land Release การแบ่งพื้นที่ CHA ออกเป็นพื้นที่ย่อย อาจสามารถประยุกต์ใช้ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) มาช่วยได้
- ในขั้นตอนการเลือกพื้นที่สุ่มตรวจในพื้นที่ย่อยแต่ละพื้นที่ของพื้นที่ CHA นั้น การเลือกพื้นที่สุ่มตรวจเพื่อให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ควรใช้ความน่าจะเป็นของข้อมูลต่างๆ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ เส้นทางที่มีอยู่ ข้อมูล ข่าวสารของพื้นที่ การใช้ประโยชน์พื้นที่ของประชาชน หลักนิยมของคู่สงคราม ลักษณะพื้นที่ทางยุทธวิธี การพิจารณาภูมิประเทศทางทหาร ฯลฯ มาพิจารณาทบทวนอีกครั้งอย่างมีคุณภาพ ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “ทบทวนความน่าจะเป็นของข้อมูลที่มี ด้วยเทคนิคและวิธีการคุณภาพ แล้วนำไปใช้ในการเลือกพื้นที่ที่จะสุ่มตรวจ ซึ่งจะทำให้พื้นที่สุ่มตรวจนั้น มีคุณภาพตามไปด้วย” โดยใช้ตัวแบบทางความคิดดังนี้
P(TRIP ∩ DO) + Q ------> QRS
Q = Quality (คุณภาพ)
RS = Random Sample (การสุ่มตัวอย่าง)
P = Probability (ความน่าจะเป็น)
T =Terrain (ลักษณะภูมิประเทศ)
R = Route (เส้นทางที่มีอยู่)
I = Information (ข้อมูลข่าวสาร,ประวัติพื้นที่)
P = People (การใช้ประโยชน์พื้นที่ของประชาชน)
D = Doctrine (หลักนิยมการรบของคู่สงคราม)
O = OCOKA (ลักษณะพื้นที่ทางยุทธวิธีหรือการพิจาณาภูมิประเทศทางทหาร) ได้แก่
- O : OBSERVATION & FIELD OF FIRE : การตรวจการ และพื้นการยิง
- C : COVER & CONCEALMENT : การกำบัง และซ่อนพราง
- O : OBSTACLE : เครื่องกีดขวา
- K : KEY TERRAIN : ภูมิประเทศสำคัญ
- A : AVENUE OF APPROACH : แนวทางการเคลื่อนที่
ในพื้นที่ 1 แห่ง หากผู้ปฏิบัติงานใช้วิธีการเลือกพื้นที่สุ่มตรวจอย่างมีคุณภาพ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในพื้นที่นั้นอาจเกิดวิธีการสุ่มตรวจ หลาหลายรูปแบบผสมผสานกัน ดังภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง การทบทวนข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่อีกครั้ง ก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานจะตัดสินในเลือกพื้นที่ที่จะทำการสุ่มตรวจจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้พื้นที่ที่เลือกสุ่มตรวจนั้น เป็นที่ยอมรับ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นตัวแทนที่แท้จริงของพื้นที่ทั้งหมด ก่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน คณะกรรมการตรวจสอบฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง ในการยืนยันว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดจริง สามารถส่งมอบพื้นที่ให้แก่ราษฎรหรือผู้ที่ใช้ประโยชน์ต่อไป
อ้างอิง
[1] วรรณี แกมเกตุ. (2551). วิธีวิทยาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 228-300.
****************************
เขียนโดย พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น