วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คิวต่อไปของไทย : อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (CCM)

อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions : CCM) เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามใช้ ผลิต สะสม และโอนระเบิดพวงโดยสิ้นเชิง อนุสัญญาฯ นี้ เปิดให้ลงนามที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2551 ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมลงนามแล้วจำนวน 118 ประเทศ และส่งมอบสัตยาบันสารเป็นรัฐภาคีแล้ว จำนวน 98 ประเทศ  สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการดำเนินการใดใด

ระเบิดพวงคืออะไร
อธิบายง่ายๆ ระเบิดพวง เป็นระเบิดขนาดใหญ่ซึ่งทิ้งมาจากเครื่องบิน หรืออาจยิงจากภาคพื้นดินด้วยปืนใหญ่ รถถัง หรือเครื่องยิงจรวดต่างๆ เมื่อยิงไปแล้วสามารถปล่อยลูกระเบิดขนาดเล็กกว่าออกมาหลายสิบหลายร้อยลูก ซึ่งหากปล่อยมาจากอากาศจะเรียกว่า bomb-lets (ระเบิดลูกย่อย) หากปล่อยมาจากกระสุนปืนใหญ่หรือจรวดจากภาคพื้นดิน มักเรียกว่า grenades (ลูกระเบิด) 




ปัญหาระเบิดพวง
ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมลงนามกันในอนุสัญญานี้ ก็เพราะเจ้าระเบิดพวงนี้ มันไม่สามารถแยกแยะระหว่างเป้าหมายทางทหารกับเป้าหมายพลเรือนได้ ฉะนั้นผลกระทบด้านมนุษยธรรมจึงสูงมาก โดยเฉพาะหากเจ้าระเบิดพวงเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในพื้นที่หรือใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอยู่มาก นอกจากนั้นหากเจ้าลูกระเบิดย่อยต่างๆ เกิดด้านและไม่ทำงาน ตกอยู่ตามพื้นดินก็จะกลายเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (AP) ดีๆ นี่เอง
#ระเบิดพวงจึงถูกจัดไว้ว่าเป็นระเบิดที่อำมหิต



     
37-19-35-86
จากเอกสาร "ระเบิดพวงคืออะไร" ซึ่งจัดทำโดย Norwegian People's Aid Thailand เมื่อ พ.ศ.2556 ระบุว่า มีประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระเบิดพวง ดังนี้
  • 37 ประเทศได้รับผลกระทบจากระเบิดพวงที่ใช้ในช่วงที่มีข้อพิพาทด้วยอาวุธ ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ กัมพูชา ลาว และไทย 
  • 19 ประเทศที่เคยใช้ระเบิดพวง  ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ ไทย 
  • 35 ประเทศที่เคยผลิตหรือยังคงผลิตระเบิดพวง ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ สิงค์โปร์
  • 86 ประเทศที่มีระเบิดพวงสะสมอยู่ ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ สิงค์โปร์ และไทย
สรุปได้ว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบ ประเทศที่เคยใช้ และประเทศที่มีระเบิดพวงสะสมอยู่ ลาวและกัมพูชา เป็นเพียงประเทศที่ได้รับผลกระทบแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนสิงคโปร์ เป็นประเทศที่เคยผลิตและยังมีระเบิดพวงสะสมอยู่ 
#งานนี้ ประเทศไทยเรา เป็นจำเลยของโลกเต็มๆ
#ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวใน ASEAN ที่เคยใช้ระเบิดพวง


ประเทศใน ASEAN ต่อท่าทีของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง
*ประเทศที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีแล้ว ได้แก่ ลาว
*ประเทศที่เข้าร่วมลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
*ประเทศที่ยังไม่ได่ดำเนินการใดๆ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

คิวต่อไปของประเทศไทย
เมื่อกลางเดือน พ.ย.2558 ผมได้มีโอกาสประชุมร่วมกับกรมองค์การระหว่างประเทศเรื่องอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เผอิญมีการพูดคุยตอนหนึ่งเรื่องการเข้าร่วม CCM ของประเทศไทยด้วย เห็นว่าประเทศไทยคงหลีกเหลี่ยงไม่ได้แน่ เพราะถูกเวทีประชาคมโลกกดดันเสมอเวลามีการประชุมเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยมีประวัติเคยใช้ระเบิดพวง และมีสะสมอยู่ 

สอบถามความเดิมจากผู้รู้ว่า "ทำไม? ประเทศไทยไม่เข้าร่วม CCM" ก็มีแต่คำตอบเดิมๆ ว่า "มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ห้ามพูดถึง" แต่ก็ไม่เคยอธิบายรายละเอียดให้ฟัง ว่าละเอียดอ่อนอย่างไร


ในโอกาสที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในสิ้นปีนี้ ตามความเห็นส่วนตัวแล้ว ประเทศไทยควรแสดงถึงความต้องการสันติภาพในภูมิภาคอาเซียนและในโลกด้วยความจริงใจ ด้วยการเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (CCM)  เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาค ASEAN ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเคยใช้ และยังมีสะสมอยู่ ส่วนท่าทีของสิงค์โปร์ที่ทั้งผลิตระเบิดพวงและมีสะสมอยู่ ก็แล้วแต่เขา 

การทำเยี่ยงนี้ ประเทศไทยจะได้การยอมรับนับถือทั้งจากประเทศในสมาชิก ASEAN และประชาคมโลก อย่าให้สถานการณ์ต้องบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วม CCM ด้วยความจำใจ

***********************
ชาติชาย คเชนชล : 25 พ.ย.2558

เอกสารอ้างอิง
Norwegian People's Aid (NPA). (2556). ระเบิดพวงคืออะไร.  กรุงเทพฯ : NPA Thailand.

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การแกะรอยสนามทุ่นระเบิด K5 ยาวกว่า 700 กิโลเมตรตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

K5 Mine-belt แปลเป็นไทยได้ว่า "เข็มขัดทุ่นระเบิด K5" หรือที่มักรู้จักกันในนาม ม่านไม้ไผ่ (Bamboo Curtain) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2528-2532 หลังจากที่กองทัพเวียดนามขับไล่กองกำลังเขมรแดงออกนอกประเทศกัมพูชาได้แล้ว จึงทำการปิดผนึกเขมรแดงไม่ให้กลับเข้าประเทศด้วยการวางสนามทุ่นระเบิด ยาวกว่า 700 กม.ตามแนวชายแดนกัมพูชา-ไทย  มีการบันทึกว่าสนามทุ่นระเบิด K5 นี้กว้างถึง 500 เมตร ความหนาแน่นของทุ่นระเบิดที่วางประมาณ 3,000 ทุ่น ต่อความยาว 1 กิโลเมตร  หากเป็นเช่นนั้นจริง เวียดนามต้องใช้ทุ่นระเบิดถึง 2,100,000 ทุ่น 




K = มาจากภาษาเขมรคำว่า Kar Karpier แปลไทยได้ว่า "การป้องกัน" 

5 = มาจากขั้นตอนการขับไล่เขมรแดงออกนอกประเทศกัมพูชาจำนวน 5 ขั้นตอน 
K5  จึงแปลความหมายโดยรวมคือ แผน 5 ขั้นเพื่อขับไล่เขมรแดงออกนอกประเทศกัมพูชา 

การวางแนวทุ่นระเบิดเพื่อปิดผนึกเขมรแดง คือ ขั้นตอนที่ 2 แผนนี้เป็นแผนของนายพล  Le Duc Anh, commander of the PAVN forces in Cambodia 


เล่ากันว่า "เขตแดนไทยและกัมพูชาที่แท้จริง ก็คือแนวทุ่นระเบิด K5 นี่เอง ซึ่งหากเราแกะรอยแนวทุ่นระเบิดนี้ได้ ก็จะเป็นหลักฐานอ้างอิงที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่จะพิสูจน์แนวเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่แท้จริงได้"

แต่แนวทุ่นระเบิด K5 ยังแกะรอยได้ไม่หมด

แนวทุ่นระเบิด K5 ตามแนวชายแดนไทย ถูกค้นหาโดย หน่วยปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษย์ธรรมที่ 3 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี, จ.ศรีสะเกษ, จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 ในพื้นที่ จ.สระแก้ว และหน่วยปฎิบัติทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (กองทัพเรือ) ในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด 

ส่วนฝั่งตรงข้ามตามแนวชายแดนกัมพูชา ถูกค้นหาโดย หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดภาคเอกชน (NGO) ที่ชื่อว่า HALO Trust

ผมได้มีโอกาสพบผู้แทนของ HALO Trust (โครงการประเทศกัมพูชา) เมื่อกลางเดือน พ.ย.2558 เขาเล่าให้ฟังว่ากำลังตามแกะรอยสนามทุ่นระเบิด K5 นี้เหมือนกัน

วันหนึ่ง...หากเราร่วมมือกัน น่าจะสามารถแกะรอยสนามทุ่นระเบิด K5 ได้สำเร็จโดยเร็ว พื้นที่จะได้มีความปลอดภัยแก่ราษฎรทั้งสองประเทศ ไม่ต้องสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดอีกต่อไป นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย

ภาพแนวสนามทุ่นระเบิด K5 ในเขตชายแดนประเทศกัมพูชา ตรงข้าม
อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (ภาพจาก HALO Trust)

ภาพสนามทุ่นระเบิด K5 ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่รอการเก็บกู้
ตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี ลงมาถึง จ.ตราด
(ภาพจาก ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ)

พวกเราอยากทำงานแกะรอย K5 ร่วมกันจริงครับ
แต่ก็เป็นแค่ "สักวันหนึ่งเท่านั้น" ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

*********************
จุฑาคเชน : 24 พ.ย.2558

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

CCW คืออะไร : ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องพิจารณา

CCW ย่อมาจาก The Convention on Certain Conventional Weapons แปลเป็นไทยสั้นๆ ว่า "อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด" ส่วนชื่อเต็มๆ ก็คือ อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย (Convention on Prohibitions or Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects) โดยตัวอนุสัญญาฯ นี้ได้รับการรองรับจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 34 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2523 และมีผลบังคับใช้ เมื่อ 2 ธ.ค. 2526 โดยทุกประเทศที่ร่วมเป็นรัฐภาคีต้องจำกัดการใช้อาวุธบางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นต่อกำลังรบและการบาดเจ็บโดยไม่แบ่งแยกต่อพลเรือน


ที่มาของภาพ http://www.icrac.net.php53-3.dfw1-2.websitetestlink.com/
tag/convention-on-certain-conventional-weapons/
อนุสัญญา CCW ประกอบด้วยตัวอนุสัญญาแม่บท และพิธีสารแนบท้าย โดยแต่เดิมเมื่อปี 2523 มีผลบังคับใช้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศเท่านั้น ก่อนจะมีการแก้ไขในปี 2544 ได้แก้ไขให้มีผลบังคับใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งภายในของแต่ละประเทศด้วย

พิธีสารแนบท้าย (Protocol) ต่างๆ ที่กล่าวถึง จะเป็นตัวจำกัด/ห้ามใช้อาวุธแต่ละชนิด ซึ่งปัจจุบัน CCW มีพิธีสารอยู่ 5 ฉบับรายละเอียดดังนี้
  1. พิธีสารฉบับที่ 1 (Protocol on Non-Detectable Fragments) ห้ามการใช้อาวุธใด ๆ ก็ตาม ที่มีผลเบื้องต้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ซึ่งเมื่อสะเก็ดนั้นอยู่ในร่างกายแล้วไม่อาจตรวจพบได้โดยการเอ๊กซ์เรย์ ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 116 ประเทศ 
  2. พิธีสารฉบับที่ 2 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Mines, Booby-Traps and Other Devices) ห้ามหรือจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด (ทั้งประเภทสังหารบุคคล ต่อต้านยานพาหนะและแสวงเครื่อง) กับดัก และอาวุธอื่น ๆ (ซึ่งหมายถึงอาวุธที่วางด้วยมือ รวมถึงอาวุธระเบิดอื่นใดที่ออกแบบไว้เพื่อการสังหาร ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือการทำลาย และทำให้ระเบิดด้วยมือจากการควบคุมระยะไกล) ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม โดยการระบุถึงการควบคุมการถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และห้ามใช้ทุ่นระเบิดที่มีส่วนผสมของโลหะน้อยเกินกว่าเครื่องตรวจจะหาพบได้ ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 102 ประเทศ 
  3. พิธีสารฉบับที่ 3 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Incendiary Weapons) ควบคุมการใช้อาวุธเพลิง ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 112 ประเทศ 
  4. พิธีสารฉบับที่ 4 (Protocol on Blinding Laser Weapons) รับรองเมื่อเดือนตุลาคม 2538 มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเกี่ยวกับการห้ามการใช้อาวุธแสงเลเซอร์ที่มีผลทำให้ตาบอดถาวร ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 105 ประเทศ
  5. พิธีสารฉบับที่ 5 (Protocol on Explosive Remnants of War) ซึ่งกำหนดแนวทางการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามและส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน โดยพิธีสารฉบับที่ 5 นี้ นับเป็นพิธีสาร ฉบับล่าสุด รับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 และเริ่มมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคีตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 87 ประเทศ 
ประเทศใน ASEAN ที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี คือ สปป.ลาว และ กัมพูชา และมีการลงนามในพิธีสาร ดังนี้ 
  • สปป.ลาว เข้าร่วมพิธีสารฉบับที่ 1, 2, 3 และ 5 
  • กัมพูชา เข้าร่วมพิธีสารฉบับที่ 1, 2, 3 และ 4 
สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีแต่อย่างใด

การเข้าเป็นรัฐภาคี
การเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา CCW นั้น แต่ละประเทศเมื่อตัดสินใจร่วมเป็นรัฐภาคีแล้ว ต้องลงนามในพิธีสารแนบท้ายของอนุสัญญาฯ อย่างน้อย 2 ฉบับ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (พ.ศ.2558) มีรัฐภาคี อยู่จำนวน 121 ประเทศ

ประเด็นหลักที่เป็นข้อกังวลในกรอบอนุสัญญา CCW คือ Lethal Autonomous Weapons System ซึ่งหมายถึงอาวุธที่สามารถกำหนดเป้าหมายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีมนุษย์มาควบคุม เนื่องจากการพัฒนาของหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์นั้นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 20-30 ปีอาจมีอาวุธที่สามารถเลือกเป้าหมายที่จะสังหารได้เอง จึงต้องมีการควบคุมการใช้และการพัฒนาอาวุธดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากระบบของหุ่นยนต์ไม่มีความรู้สึก นึกคิด ถึงชีวิต เพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น จึงอาจทำให้มีความสูญเสียในสนามรบเกินความจำเป็นหรืออาจมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุมากกว่าทหารที่เป็นมนุษย์ และบางส่วนก็เห็นว่าการเข้าสู่ความขัดแย้งทางอาวุธจะเป็นไปได้ง่ายขึ้นทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสงครามโดยไม่จำเป็น



ที่มาของภาพ
http://prn.fm/tag/convention-on-certain-conventional-weapons/

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา CCW มีแต่การส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยกระทรวงต่างประเทศและศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ มักจะได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้แทน 

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญา CCW มากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว หากมีความจำเป็นควรที่จะมีการพิจารณาเพื่อร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญา CCW แต่เนิ่นๆ ด้วยความสมัครใจ อย่าปล่อยให้ถึงเวลาที่เวทีประชาคมโลกต้องบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมลงนามด้วยความจำใจ

#หากเป็นเช่นนี้จะแลดูไม่งามเท่าใดนัก



ที่มาของภาพ http://www.unog.ch/80256EE600585943/(httpPages)
/7EDE18BCB181741AC12572A6002E7710?OpenDocument














ปล : พิธีสารที่ประเทศไทยสามาถเข้าร่วมได้ง่ายที่สุด คือ พิธีสารฉบับที่ 2 และฉบับที่ 5 เพราะสามารถบูรณาการเข้ากับอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ประเทศไทยร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีแล้วเมื่อปี พ.ศ.2542

***************************
ชาติชาย คเชนชล : 11 พ.ย.2558

ที่มาข้อมูล
กรมองค์การระหว่างประเทศ กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ. (2558).
อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด. กระทรวงการต่างประเทศ
[Online]. Available : http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9902-การลดอาวุธตามแบบ.html. 
[2558.พฤศจิกายน 11].