วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คิวต่อไปของไทย : อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (CCM)

อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions : CCM) เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามใช้ ผลิต สะสม และโอนระเบิดพวงโดยสิ้นเชิง อนุสัญญาฯ นี้ เปิดให้ลงนามที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2551 ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมลงนามแล้วจำนวน 118 ประเทศ และส่งมอบสัตยาบันสารเป็นรัฐภาคีแล้ว จำนวน 98 ประเทศ  สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการดำเนินการใดใด

ระเบิดพวงคืออะไร
อธิบายง่ายๆ ระเบิดพวง เป็นระเบิดขนาดใหญ่ซึ่งทิ้งมาจากเครื่องบิน หรืออาจยิงจากภาคพื้นดินด้วยปืนใหญ่ รถถัง หรือเครื่องยิงจรวดต่างๆ เมื่อยิงไปแล้วสามารถปล่อยลูกระเบิดขนาดเล็กกว่าออกมาหลายสิบหลายร้อยลูก ซึ่งหากปล่อยมาจากอากาศจะเรียกว่า bomb-lets (ระเบิดลูกย่อย) หากปล่อยมาจากกระสุนปืนใหญ่หรือจรวดจากภาคพื้นดิน มักเรียกว่า grenades (ลูกระเบิด) 




ปัญหาระเบิดพวง
ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมลงนามกันในอนุสัญญานี้ ก็เพราะเจ้าระเบิดพวงนี้ มันไม่สามารถแยกแยะระหว่างเป้าหมายทางทหารกับเป้าหมายพลเรือนได้ ฉะนั้นผลกระทบด้านมนุษยธรรมจึงสูงมาก โดยเฉพาะหากเจ้าระเบิดพวงเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในพื้นที่หรือใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอยู่มาก นอกจากนั้นหากเจ้าลูกระเบิดย่อยต่างๆ เกิดด้านและไม่ทำงาน ตกอยู่ตามพื้นดินก็จะกลายเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (AP) ดีๆ นี่เอง
#ระเบิดพวงจึงถูกจัดไว้ว่าเป็นระเบิดที่อำมหิต



     
37-19-35-86
จากเอกสาร "ระเบิดพวงคืออะไร" ซึ่งจัดทำโดย Norwegian People's Aid Thailand เมื่อ พ.ศ.2556 ระบุว่า มีประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระเบิดพวง ดังนี้
  • 37 ประเทศได้รับผลกระทบจากระเบิดพวงที่ใช้ในช่วงที่มีข้อพิพาทด้วยอาวุธ ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ กัมพูชา ลาว และไทย 
  • 19 ประเทศที่เคยใช้ระเบิดพวง  ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ ไทย 
  • 35 ประเทศที่เคยผลิตหรือยังคงผลิตระเบิดพวง ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ สิงค์โปร์
  • 86 ประเทศที่มีระเบิดพวงสะสมอยู่ ซึ่งประเทศที่อยู่ใน ASEAN ได้แก่ สิงค์โปร์ และไทย
สรุปได้ว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบ ประเทศที่เคยใช้ และประเทศที่มีระเบิดพวงสะสมอยู่ ลาวและกัมพูชา เป็นเพียงประเทศที่ได้รับผลกระทบแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนสิงคโปร์ เป็นประเทศที่เคยผลิตและยังมีระเบิดพวงสะสมอยู่ 
#งานนี้ ประเทศไทยเรา เป็นจำเลยของโลกเต็มๆ
#ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวใน ASEAN ที่เคยใช้ระเบิดพวง


ประเทศใน ASEAN ต่อท่าทีของอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง
*ประเทศที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีแล้ว ได้แก่ ลาว
*ประเทศที่เข้าร่วมลงนามแล้วแต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
*ประเทศที่ยังไม่ได่ดำเนินการใดๆ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

คิวต่อไปของประเทศไทย
เมื่อกลางเดือน พ.ย.2558 ผมได้มีโอกาสประชุมร่วมกับกรมองค์การระหว่างประเทศเรื่องอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล เผอิญมีการพูดคุยตอนหนึ่งเรื่องการเข้าร่วม CCM ของประเทศไทยด้วย เห็นว่าประเทศไทยคงหลีกเหลี่ยงไม่ได้แน่ เพราะถูกเวทีประชาคมโลกกดดันเสมอเวลามีการประชุมเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยมีประวัติเคยใช้ระเบิดพวง และมีสะสมอยู่ 

สอบถามความเดิมจากผู้รู้ว่า "ทำไม? ประเทศไทยไม่เข้าร่วม CCM" ก็มีแต่คำตอบเดิมๆ ว่า "มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ห้ามพูดถึง" แต่ก็ไม่เคยอธิบายรายละเอียดให้ฟัง ว่าละเอียดอ่อนอย่างไร


ในโอกาสที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในสิ้นปีนี้ ตามความเห็นส่วนตัวแล้ว ประเทศไทยควรแสดงถึงความต้องการสันติภาพในภูมิภาคอาเซียนและในโลกด้วยความจริงใจ ด้วยการเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (CCM)  เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาค ASEAN ที่ถูกบันทึกไว้ว่าเคยใช้ และยังมีสะสมอยู่ ส่วนท่าทีของสิงค์โปร์ที่ทั้งผลิตระเบิดพวงและมีสะสมอยู่ ก็แล้วแต่เขา 

การทำเยี่ยงนี้ ประเทศไทยจะได้การยอมรับนับถือทั้งจากประเทศในสมาชิก ASEAN และประชาคมโลก อย่าให้สถานการณ์ต้องบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วม CCM ด้วยความจำใจ

***********************
ชาติชาย คเชนชล : 25 พ.ย.2558

เอกสารอ้างอิง
Norwegian People's Aid (NPA). (2556). ระเบิดพวงคืออะไร.  กรุงเทพฯ : NPA Thailand.

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การแกะรอยสนามทุ่นระเบิด K5 ยาวกว่า 700 กิโลเมตรตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

K5 Mine-belt แปลเป็นไทยได้ว่า "เข็มขัดทุ่นระเบิด K5" หรือที่มักรู้จักกันในนาม ม่านไม้ไผ่ (Bamboo Curtain) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2528-2532 หลังจากที่กองทัพเวียดนามขับไล่กองกำลังเขมรแดงออกนอกประเทศกัมพูชาได้แล้ว จึงทำการปิดผนึกเขมรแดงไม่ให้กลับเข้าประเทศด้วยการวางสนามทุ่นระเบิด ยาวกว่า 700 กม.ตามแนวชายแดนกัมพูชา-ไทย  มีการบันทึกว่าสนามทุ่นระเบิด K5 นี้กว้างถึง 500 เมตร ความหนาแน่นของทุ่นระเบิดที่วางประมาณ 3,000 ทุ่น ต่อความยาว 1 กิโลเมตร  หากเป็นเช่นนั้นจริง เวียดนามต้องใช้ทุ่นระเบิดถึง 2,100,000 ทุ่น 




K = มาจากภาษาเขมรคำว่า Kar Karpier แปลไทยได้ว่า "การป้องกัน" 

5 = มาจากขั้นตอนการขับไล่เขมรแดงออกนอกประเทศกัมพูชาจำนวน 5 ขั้นตอน 
K5  จึงแปลความหมายโดยรวมคือ แผน 5 ขั้นเพื่อขับไล่เขมรแดงออกนอกประเทศกัมพูชา 

การวางแนวทุ่นระเบิดเพื่อปิดผนึกเขมรแดง คือ ขั้นตอนที่ 2 แผนนี้เป็นแผนของนายพล  Le Duc Anh, commander of the PAVN forces in Cambodia 


เล่ากันว่า "เขตแดนไทยและกัมพูชาที่แท้จริง ก็คือแนวทุ่นระเบิด K5 นี่เอง ซึ่งหากเราแกะรอยแนวทุ่นระเบิดนี้ได้ ก็จะเป็นหลักฐานอ้างอิงที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ที่จะพิสูจน์แนวเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่แท้จริงได้"

แต่แนวทุ่นระเบิด K5 ยังแกะรอยได้ไม่หมด

แนวทุ่นระเบิด K5 ตามแนวชายแดนไทย ถูกค้นหาโดย หน่วยปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษย์ธรรมที่ 3 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี, จ.ศรีสะเกษ, จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 ในพื้นที่ จ.สระแก้ว และหน่วยปฎิบัติทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (กองทัพเรือ) ในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด 

ส่วนฝั่งตรงข้ามตามแนวชายแดนกัมพูชา ถูกค้นหาโดย หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดภาคเอกชน (NGO) ที่ชื่อว่า HALO Trust

ผมได้มีโอกาสพบผู้แทนของ HALO Trust (โครงการประเทศกัมพูชา) เมื่อกลางเดือน พ.ย.2558 เขาเล่าให้ฟังว่ากำลังตามแกะรอยสนามทุ่นระเบิด K5 นี้เหมือนกัน

วันหนึ่ง...หากเราร่วมมือกัน น่าจะสามารถแกะรอยสนามทุ่นระเบิด K5 ได้สำเร็จโดยเร็ว พื้นที่จะได้มีความปลอดภัยแก่ราษฎรทั้งสองประเทศ ไม่ต้องสูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการเหยียบทุ่นระเบิดอีกต่อไป นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย

ภาพแนวสนามทุ่นระเบิด K5 ในเขตชายแดนประเทศกัมพูชา ตรงข้าม
อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (ภาพจาก HALO Trust)

ภาพสนามทุ่นระเบิด K5 ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่รอการเก็บกู้
ตั้งแต่ จ.อุบลราชธานี ลงมาถึง จ.ตราด
(ภาพจาก ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ)

พวกเราอยากทำงานแกะรอย K5 ร่วมกันจริงครับ
แต่ก็เป็นแค่ "สักวันหนึ่งเท่านั้น" ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

*********************
จุฑาคเชน : 24 พ.ย.2558

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

CCW คืออะไร : ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องพิจารณา

CCW ย่อมาจาก The Convention on Certain Conventional Weapons แปลเป็นไทยสั้นๆ ว่า "อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด" ส่วนชื่อเต็มๆ ก็คือ อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย (Convention on Prohibitions or Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects) โดยตัวอนุสัญญาฯ นี้ได้รับการรองรับจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 34 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2523 และมีผลบังคับใช้ เมื่อ 2 ธ.ค. 2526 โดยทุกประเทศที่ร่วมเป็นรัฐภาคีต้องจำกัดการใช้อาวุธบางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นต่อกำลังรบและการบาดเจ็บโดยไม่แบ่งแยกต่อพลเรือน


ที่มาของภาพ http://www.icrac.net.php53-3.dfw1-2.websitetestlink.com/
tag/convention-on-certain-conventional-weapons/
อนุสัญญา CCW ประกอบด้วยตัวอนุสัญญาแม่บท และพิธีสารแนบท้าย โดยแต่เดิมเมื่อปี 2523 มีผลบังคับใช้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศเท่านั้น ก่อนจะมีการแก้ไขในปี 2544 ได้แก้ไขให้มีผลบังคับใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งภายในของแต่ละประเทศด้วย

พิธีสารแนบท้าย (Protocol) ต่างๆ ที่กล่าวถึง จะเป็นตัวจำกัด/ห้ามใช้อาวุธแต่ละชนิด ซึ่งปัจจุบัน CCW มีพิธีสารอยู่ 5 ฉบับรายละเอียดดังนี้
  1. พิธีสารฉบับที่ 1 (Protocol on Non-Detectable Fragments) ห้ามการใช้อาวุธใด ๆ ก็ตาม ที่มีผลเบื้องต้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ซึ่งเมื่อสะเก็ดนั้นอยู่ในร่างกายแล้วไม่อาจตรวจพบได้โดยการเอ๊กซ์เรย์ ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 116 ประเทศ 
  2. พิธีสารฉบับที่ 2 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Mines, Booby-Traps and Other Devices) ห้ามหรือจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด (ทั้งประเภทสังหารบุคคล ต่อต้านยานพาหนะและแสวงเครื่อง) กับดัก และอาวุธอื่น ๆ (ซึ่งหมายถึงอาวุธที่วางด้วยมือ รวมถึงอาวุธระเบิดอื่นใดที่ออกแบบไว้เพื่อการสังหาร ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือการทำลาย และทำให้ระเบิดด้วยมือจากการควบคุมระยะไกล) ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม โดยการระบุถึงการควบคุมการถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และห้ามใช้ทุ่นระเบิดที่มีส่วนผสมของโลหะน้อยเกินกว่าเครื่องตรวจจะหาพบได้ ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 102 ประเทศ 
  3. พิธีสารฉบับที่ 3 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Incendiary Weapons) ควบคุมการใช้อาวุธเพลิง ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 112 ประเทศ 
  4. พิธีสารฉบับที่ 4 (Protocol on Blinding Laser Weapons) รับรองเมื่อเดือนตุลาคม 2538 มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเกี่ยวกับการห้ามการใช้อาวุธแสงเลเซอร์ที่มีผลทำให้ตาบอดถาวร ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 105 ประเทศ
  5. พิธีสารฉบับที่ 5 (Protocol on Explosive Remnants of War) ซึ่งกำหนดแนวทางการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามและส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน โดยพิธีสารฉบับที่ 5 นี้ นับเป็นพิธีสาร ฉบับล่าสุด รับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 และเริ่มมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคีตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 87 ประเทศ 
ประเทศใน ASEAN ที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี คือ สปป.ลาว และ กัมพูชา และมีการลงนามในพิธีสาร ดังนี้ 
  • สปป.ลาว เข้าร่วมพิธีสารฉบับที่ 1, 2, 3 และ 5 
  • กัมพูชา เข้าร่วมพิธีสารฉบับที่ 1, 2, 3 และ 4 
สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีแต่อย่างใด

การเข้าเป็นรัฐภาคี
การเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา CCW นั้น แต่ละประเทศเมื่อตัดสินใจร่วมเป็นรัฐภาคีแล้ว ต้องลงนามในพิธีสารแนบท้ายของอนุสัญญาฯ อย่างน้อย 2 ฉบับ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (พ.ศ.2558) มีรัฐภาคี อยู่จำนวน 121 ประเทศ

ประเด็นหลักที่เป็นข้อกังวลในกรอบอนุสัญญา CCW คือ Lethal Autonomous Weapons System ซึ่งหมายถึงอาวุธที่สามารถกำหนดเป้าหมายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีมนุษย์มาควบคุม เนื่องจากการพัฒนาของหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์นั้นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 20-30 ปีอาจมีอาวุธที่สามารถเลือกเป้าหมายที่จะสังหารได้เอง จึงต้องมีการควบคุมการใช้และการพัฒนาอาวุธดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากระบบของหุ่นยนต์ไม่มีความรู้สึก นึกคิด ถึงชีวิต เพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น จึงอาจทำให้มีความสูญเสียในสนามรบเกินความจำเป็นหรืออาจมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุมากกว่าทหารที่เป็นมนุษย์ และบางส่วนก็เห็นว่าการเข้าสู่ความขัดแย้งทางอาวุธจะเป็นไปได้ง่ายขึ้นทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสงครามโดยไม่จำเป็น



ที่มาของภาพ
http://prn.fm/tag/convention-on-certain-conventional-weapons/

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา CCW มีแต่การส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยกระทรวงต่างประเทศและศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ มักจะได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้แทน 

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญา CCW มากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว หากมีความจำเป็นควรที่จะมีการพิจารณาเพื่อร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญา CCW แต่เนิ่นๆ ด้วยความสมัครใจ อย่าปล่อยให้ถึงเวลาที่เวทีประชาคมโลกต้องบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมลงนามด้วยความจำใจ

#หากเป็นเช่นนี้จะแลดูไม่งามเท่าใดนัก



ที่มาของภาพ http://www.unog.ch/80256EE600585943/(httpPages)
/7EDE18BCB181741AC12572A6002E7710?OpenDocument














ปล : พิธีสารที่ประเทศไทยสามาถเข้าร่วมได้ง่ายที่สุด คือ พิธีสารฉบับที่ 2 และฉบับที่ 5 เพราะสามารถบูรณาการเข้ากับอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ประเทศไทยร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีแล้วเมื่อปี พ.ศ.2542

***************************
ชาติชาย คเชนชล : 11 พ.ย.2558

ที่มาข้อมูล
กรมองค์การระหว่างประเทศ กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ. (2558).
อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด. กระทรวงการต่างประเทศ
[Online]. Available : http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9902-การลดอาวุธตามแบบ.html. 
[2558.พฤศจิกายน 11].

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โครงการพัฒนาร่วมพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา "Green-Belt Area" ความฝันที่อาจเป็นจริง

ขณะที่ผมกำลังค้นหาหนังสือเก่าๆ เกี่ยวกับการทำงานด้านทุ่นระเบิด เผอิญไปพบเอกสารถ่ายสำเนา "โครงการพัฒนาร่วมพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา" บนกระดาษที่มีเส้นบรรทัดเขียนด้วยลายมือของ พลเอก ดร.วสุ ชนะรัตน์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ท่านแรก โดยท่านดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2542-2544 น่าสนใจครับ! ท่านเขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2555 แต่ดูเหมือนว่าโครงการฯ นี้จะไม่มีใครให้ความสนใจเท่าใดนัก  

ผมเลยอยากนำแนวคิดของท่านมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้ทราบทั่วกัน ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารบ้านเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ลองอ่านดูนะครับ

โครงการพัฒนาร่วมพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
หลักการและเหตุผล
  1. ไทยและกัมพูชา มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกันยาวประมาณ 700 กิโลเมตร มีทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างเป็นจำนวนมาก ทั้งในเขตไทยและเขตกัมพูชา อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและภัยสงครามในอดีต ราษฎรของทั้งสองประทศบาดเจ็บล้มตาย ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่ต้องฟื้นฟู เยียวยา แก้ไขให้สิ่งแวดล้อมคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว
  2. ทั้งไทยและกัมพูชา ลงนามและให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 ทั้งสองประเทศต่างจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมขึ้น เพื่อดำเนินการตามพันธกิจในอนุสัญญาดังกล่าวของกัมพูชาชื่อ ซีแมค (CMAC = Cambodian Mine Action Center) เป็นองค์กรมหาชน ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ของไทยชื่อ ทีแมค (TMAC = Thailand Mine Action Center) ในองค์อุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นหน่วยเฉพาะกิจในกองบัญชาการกองทัพไทย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ดูแลด้านนโยบาย กระทรวงกลาโหมเคยเสนอให้ยกสถานะของทีแมค เป็นองค์การมหาชนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่เรื่องก็ตกไปเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล
  3. ในปัจจุบัน ไทยและกัมพูชา มีข้อตกลงที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันเฉพาะในบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อนข้างเคียง ทั้งสองฝ่ายกำลังยกร่างงานธุรการร่วม หน่วยปฏิบัติการในสนามคือ ทีแมคและซีแมค รวมทั้งหน่วยเก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือน ภายใต้การช่วยเหลือจากต่างประเทศ
  4. ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และผู้นำในระดับรัฐบาลสามารถไปมาหาสู่เพื่อเจรจาทำข้อตกลงร่วมกันได้ กอร์ปกับในปี พ.ศ.2558 จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (เออีซี) ซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มประเทศอาเซียนทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งด้านสังคมจิตวิทยาจะเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยเหมาะที่จะเป็นประตูด่านหน้าของเออีซี ในการเจรจากับกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจ ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลไทยในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ สามารถกระตุ้นความสนใจของประเทศต่างๆ ในระดับโลกได้ จะเป็นผลดีต่อรัฐบาลไทยในฐานะประเทศผู้นำตามธรรมชาติ ที่มิตรประเทศในกลุ่มเออีซีให้การยอมรับ เพราะต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกแง่มุม อย่างทัดเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
  5. จึงนับว่าเป็นโอกาสดีของทั้งไทยและกัมพูชา ที่จะหยิบยกปัญหาร่วมด้านทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดตกค้างบริเวณแนวชายแดนของทั้งสองประเทศมาทำข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) เป็น กรอบยุทธศาสตร์ระยะยาวที่เสริมสร้างความเจริญและความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศ กระทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อความผาสุกและความอยู่ดีกินดีของประชาชน ช่วยกันกวาดล้างวุตถุอันตรายตลอดแนวชายแดนยาวประมาณ 700 กิโลเมตรดังกล่าว โดยไม่หยิบยกเอาปัญหาการปักปันเขตแดนซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ในบางพื้นที่ มาเป็นอุปสรรค์ขัดขวางการพัฒนาชายแดน ให้เป็นพื้นที่ปลอดทุ่นระเบิดและพัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ตั้งแต่เจ้าฟ้าหญิงไดแอนน่าสิ้นพระชนม์ ยังไม่มีผู้ใดกระตุ้นสังคมโลกให้สนใจแก้ปัญหาทุ่นระเบิดตกค้าง (Hidden Killers) ตามอนุสัญญาออตตาวาได้เลย นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยจึงมีโอกาสที่จะรับภารกิจระดับโลกชิ้นนี้ โดยริเริ่มกิจกรรมร่วมแบบเบ็ดเสร็จที่ชายแดนไทย-กัมพูชาตลอดแนว แปลงพื้นที่อันตรายเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตด้านต่างๆเลี้ยงดูชาวโลกได้ต่อไปในลักษณะคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ซึ่งไทยมีประสบการณ์อยู่แล้วในด้านนี้ แต่ยังขาดพื้นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอ
  6. อนุสัญญาออตตาวา กำหนดกิจกรรมหลักด้านมนุษยธรรมไว้ 4 กิจกรรมคือ
    1. การแจ้งเตือนและให้ความรู้ (Mine Awareness)
    2. การช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Mine Victims Assistance)
    3. การกวาดล้างทุ่นระเบิด (Mine Clearance)
    4. การพัฒนาพื้นที่ (Area Development)
  7. กิจกรรมที่ใช้เวลามากที่สุดคือกิจกรรม 6.3 ซึ่งต้องทำด้วยความรอบคอบได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งในขณะนี้ทั้งไทยและกัมพูชามีความสามารถอยู่แล้ว และมีการวิจัยพัฒนาเครื่องมือร่วมกับรัฐภาคีอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมที่องค์การสหประชาชาติกรุงเจนีวาทุกปี ข้อแตกต่างระหว่างสองประเทศ ก็คือ ขณะที่ซีแมคเป็นองค์การมหาชนตามมาตรฐานสากล  แต่  ทีแมคของไทย ยังคงเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ฝ่ายทหารดูแล  ซึ่งจุดอ่อนคือรัฐภาคีบางรัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ และกำลังพลที่ฝึกอบรมแล้วมีโอกาสโยกย้ายอยู่เสมอ หาผู้ที่ย้ายเข้ามาบรรจุทดแทนยาก และต้องฝึกอบรมกันใหม่ทำให้สิ้นเปลืองและเสียเวลา จึงสมควรปรับสถานะของทีแมคให้เป็นองค์การมหาชน ทัดเทียมกับซีแมคของกัมพูชาจึงจะมีความคล่องตัวและต่อเนื่องในการปฏิบัติงานร่วมกันในระยะยาว และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
  8. กิจกรรมที่ปฏิบัติได้ทันที โดยใช้องคาพยพขององค์กรต่างๆทั้งของฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาคือกิจกรรม 6.1,6.2,และ 6.4
  9. กิจกรรม 6.1 ได้แก่การล้อมรั้วติดป้ายแจ้งเตือนพื้นที่อันตรายตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับพิษภัยและหลีกเลี่ยงอันตราย รวมทั้งการให้ข้อมูลการรายงานเหตุการณ์ต่อเจ้าหน้าที่
  10. กิจกรรม 6.2 ได้แก่ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเยียวยา(เพราะเป็นอุบัติภัยที่มีผลสืบเนื่องมาจากฝ่ายรัฐ) การฝึกอาชีพต่อผู้ประสบภัยและครอบครัว
  11. กิจกรรม 6.3 ได้แก่การสำรวจพื้นที่อันตราย การพิสูจน์ทราบขอบเขตของสนามทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดตกค้างอยู่ในพื้นที่ การเก็บกู้ การทำลาย การตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้วตามมาตรฐานสากล การรายงานผลการปฏิบัติงานต่อที่ประชุมอนุสัญญาออตตาวาในองค์การสหประชาชาติ ประจำปี เป็นต้น
  12. กิจกรรม 6.4 ได้แก่การพัฒนาพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้วในด้านสาธารณูปโภค ด้านเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ตลอดแนวชายแดนร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา เช่นการทำคอนแทรคฟาร์มิ่ง ด้านปศุสัตว์ พืชเศรษฐกิจ พืชเชื้อเพลิงเขียว พืชทดแทนน้ำมันจากฟอสซิลฯลฯ เป็นการสร้างงาน สร้างความมั่นคงอย่างสันติวิธีร่วมกันที่พื้นที่ชายแดน เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะหยุดอยู่ที่ชายแดน แทนที่จะทะลักเข้ามาในเขตภายในมากเกินไป
  13. พื้นที่ที่พัฒนาร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา อาจกำหนดกรอบความลึกข้างละ 5 กิโลเมตร รวมความลึก 10 กิโลเมตร ความยาวตลอดแนวจากจังหวัดตราดถึงจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งยาวประมาณ 700 กิโลเมตร  หรือ 4,375,000 ไร่
  14. หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ อาจเป็นต้นแบบกับพื้นที่ชายแดนที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกันทางบก ระหว่างไทย-ลาว ไทย-พม่า และไทย-มาเลเซีย ได้ต่อไป ความเป็นปึกแผ่นและความสันติสุขร่วมกันระหว่าง 5 ประเทศ ซึ่งมีไทยเป็นศูนย์กลางจะติดตามมา เป็นตัวอย่างของการใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม แห่งการมีโครงการด้านมนุษยธรรมต้อนรับปี 2558 ของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เป็นรูปธรรม ได้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ฝ่ายไทยจัดการโดยทีแมคที่เป็นองค์การมหาชน




วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ลึกเข้าไปด้านละ 5 กิโลเมตร  เป็นเขตเศษฐกิจร่วมตลอดแนวชายแดน บริหารจัดการร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา โดยจัดทำเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) มีผลบังคับใช้ เมื่อรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา


เป้าหมาย 
คณะกรรมการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่งตั่งคณะอนุกรรมการยกร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ(เอ็มโอยู) ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นเขตเศรษฐกิจร่วม ลึกเข้าไปด้านละ 5 กิโลเมตร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธานอนุกรรมการ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเจรจากับฝ่ายกัมพูชา เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบจากรัฐสภาของแต่ละฝ่าย จัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ.2556-พ.ศ.2560)ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2556

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. พื้นที่ชายแดนไทย และพื้นที่ชายแดนกัมพูชา เนื้อที่ 7,000 ตารางกิโลเมตร (4,375,000 ไร่) เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีพ ปลอดทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดตกค้าง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและสงครามในอดีต
  2. ผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดและครอบครัว ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรฐานสากล จากรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และมิตรประเทศ
  3. เกิดระบบพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วม ในลักษณะคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ที่ให้ผลผลิตสูง ที่ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของโครงการทำสัญญากับภาคเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย
  4. ทีแมคได้รับการยกสถานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้นายกรัฐมนตรี บริหารจัดการโครงการนี้ในฐานะตัวแทนรัฐบาลฝ่ายไทย


ลงชื่อ
พลเอก ดร.วสุ ชนะรัตน์
ผู้ยกร่างโครงการฯ          
27 ต.ค.2555

**************************





วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ขาเทียมทำเอง

ขาเทียมประดิษฐ์ คือขาเทียมที่ราษฎรผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด/กับระเบิดได้ทำขึ้นมาเองเนื่องจากขาดโอกาสในการรักษาและเข้ารับขาเทียมจากทางโรงพยาบาลของรัฐ เนื่องจากไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงาน แนะนำทำให้ไม่รู้จักสถานที่บริการและอีกทั้งยังขาดทุนทรัพย์ในการใช้จ่ายต่างๆ ค่าเดินทางงานพาหนะ ค่าที่พัก รวมทั้งค่าอาหาร  และผู้ประสบภัยบางส่วนเป็นราษฎรไม่มีบัตรประชาชนสัญชาติไทย ใช้บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมารับบริการจากมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนบรมราชชนนี  ผู้ประสบภัยจึงคิดค้นประดิษฐ์เท้าเทียม/ขาเทียม ขึ้นใช้เอง ซึ่งไม่ได้มาตรฐานเมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่ง จะส่งผลให้กระดูกผิดรูป กล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานผิดไปส่งผลให้พิการเพิ่มขึ้นและอันตรายจากการเคลื่อนที่ในระยะเวลานานซึ่งเป็นผลเสียแก่ผู้พิการทางมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนบรมราชชนนี ได้เก็บตัวอย่างเท้าเทียม ,ฝ่าเท้าเทียม/ขาเทียม ที่ประดิษฐ์เองของผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด เพื่อไว้เป็นข้อมูลศึกษา โดยมีทั้งขาขาดท่อนล่าง, ท่อนบน และบริเวณข้อเท้า  ดังภาพที่นำเสนอ สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ประดิษฐ์นั้น สามารถหาได้ง่ายตาม ชุมชน หมู่บ้าน ของผู้ประสบภัย เช่น ไม้, ไม้ไผ่, เหล็ก, ท่อพีวีซี, ลวด, ตะปู เป็นต้น






ที่มาของภาพ : มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปัญหาและอุปสรรคการกวาดล้างทุ่นระเบิดให้หมดไปจากไทย : รายงานพิเศษ



ในปี 2561 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะครบรอบอนุสัญญาออตตาวา ที่ส่วนหนึ่งว่าด้วยการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิด บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ให้หมดสิ้นไปได้ ตามคำประกาศไว้ในอนุสัญญา ไปตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคจากในสนามข่าว จากคุณณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด

วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สถานการณ์ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา : รายงานพิเศษ



พื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นพื้นที่ประสบภัยทุ่นระเบิดจากสงครามหลายสมรภูมิ และมีทุ่นระเบิดฝังอยู่ใต้ดินมากที่สุดในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2542 รัฐบาลไทยพยายามที่จะกวาดล้างทุ่นระเบิดให้หมด แต่จนถึงปัจจุบันมีการประเมินว่า จะต้องใช้เวลาจากนี้ไปอีกประมาณ 40 ปี ลงสนามข่าวนี้กับคุณณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด

ที่มา : http://s.ch7.com/128627

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

โรงงานขาเทียมพระราชทานในประเทศไทย


มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานกำเนิดโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ.2535 เมื่อทรงทราบว่า รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ สามารถประดิษฐ์ขาเทียมที่มีน้ำหนักเบา สวมใส่ สบาย จากขยะพลาสติกและมีราคาถูกกว่าขาเทียมต่างประเทศที่ผลิตในประเทศไทยถึง 10 เท่า ทรงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ ขึ้นเพื่อทำขาเทียมให้แก่คนพิการขาขาดที่ยากไร้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดมูลค่าและไม่เลือก เชื้อชาติ ศาสนา

มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2535 โดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นองค์ประธาน ทั้งสองพระองค์ พระราชทานทุนทรัพย์ประเดิมในการจัดตั้งมูลนิธิขาเทียมฯ จำนวนหนึ่งทำให้มูลนิธิขาเทียมฯ สามารถให้การบริการจัดทำขาเทียม ให้แก่คนพิการขาขาด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธาน ของมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อสืบทอดพระราชกรณียกิจต่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งแต่ 26 มกราคม พ.ศ.2552 เป็นต้นมา

จากการที่มูลนิธิขาเทียมฯ ได้จัดหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา เพื่อจะให้คนพิการที่ยากไร้ด้อยโอกาสได้รับขาเทียมอย่างรวดเร็วและทั่วถึงตามพระราชประสงค์ของสมเด็จย่าและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพราะคนพิการที่ยากไร้ด้อยโอกาส ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกล ทุรกันดาร เมื่อสูญเสียขาก็ไม่สามารถจะไปขอรับบริการทำขาเทียมจากหน่วยงานของรัฐเพราะมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันการทำขาเทียมในโรงพยาบาลประจำจังหวัด คนพิการต้องรอคิวเป็นเวลานาน ต้องเดินทางไปติดต่อที่โรงพยาบาลหลายครั้งจึงจะได้รับขาเทียม และในบางพื้นที่ถึงแม้มูลนิธิขาเทียมฯ จะจัดออกหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการก็ยังไม่สามารถจะมารับบริการได้ทั่วถึง และขณะเดียวกันขาเทียมเมื่อใส่มาเป็นเวลานานอาจชำรุดซึ่งก็ต้องมีการซ่อมแซมด้วย

จากปัญหาดังกล่าวนั้น รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ จึงได้จัดตั้งโรงงานทำขาเทียมร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้คนพิการได้รับขาเทียมโดยเร็ว อีกทั้งจะเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ได้กล่าวข้างต้น และจะเป็นการให้บริการที่ยั่งยืน คนพิการสามารถเข้าถึงจุดบริการได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อย
เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ
รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ
รับรางวัล รามอนแมกไซไซ
ณ ประเทศฟิลิปปินส์
วันที่ 31 สิงหาคม 2551

ข้อสำคัญในโครงการนี้ รศ.นพ.เทอดชัย ชีวะเกตุ ได้ให้แนวคิดในการดำเนินงานคือ ให้ชุมชนคัดเลือกคนพิการขาขาดที่ร่างกายแข็งแรง สมองดี แห่งละ 2-3 คน ส่งมายังมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อรับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ด้วยวัสดุ เครื่องมืออุปกรณ์ในการทำขาเทียมที่มูลนิธิขาเทียมฯ ได้คิดค้นขึ้น เพื่อให้ช่างที่ได้รับการอบรมสามารถทำขาเทียมที่ดีและมีคุณภาพ คนพิการที่ผ่านการอบรมจากมูลนิธิขาเทียมฯ จะสามารถกลับไปให้บริการทำขาเทียมที่ดี เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการขาขาดในชุมชนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและยั่งยืนภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ หรือ บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิขาเทียมฯ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

ปัจจุบันนี้มูลนิธิขาเทียมฯ ได้จัดตั้งโรงงานทำขาเทียมร่วมกับชุมชนและโรงพยาบาลชุมชนไปแล้ว 30 แห่ง โดยมูลนิธิขาเทียมฯ ให้การสนับสนุนเครื่องมือ และอุปกรณ์ให้แก่โรงงานทำขาเทียมโดยไม่คิดมูลค่า ในอนาคตมูลนิธิขาเทียมฯ มีเป้าหมายจะขยายการจัดตั้งโรงงานทำขาเทียมร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดละ 1 แห่งทั่วประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้คนพิการที่อยู่ตามชนบทได้รับขาเทียมอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ยั่งยืน ทำให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตนเองและประกอบอาชีพได้โรงงานขาเทียมในประเทศไทย

ปัจจุบันโรงงานขาเทียมมีเปิดให้การบริการตามภูมิภาค ดังแสดงไว้ในตารางด้านล่างนี้

ภูมิภาค
จังหวัด
สถานที่ให้บริการ
ภาคเหนือ
เชียงใหม่
สำนักงานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
199 ม.4 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
โทรศัพท์ 053-112271-3 โทรสาร 053-112275
เว็บไซต์ http://www.prosthesesfoundation.or.th/
เชียงราย
โรงพยาบาลแม่ลาว
309 ม.3 ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย 57250
โทรศัพท์ 053-603100 โทรสาร 053-60311
เว็บไซต์   http://www.maelaohospital.com/
สุโขทัย
โรงพยาบาลกงไกรลาศ
148 ม.4 ต.บ้านกร่าง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย 64170
โทรศัพท์ 055-691152, 055-625248-9          โทรสาร 055-691152 ต่อ 136
เว็บไซต์ http://www.kklh.go.th/
นครสวรรค์
โรงพยาบาลตาคลี
62 ถ.หัสนัย ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ 60140
โทรศัพท์ 056-801111
เว็บไซต์   http://118.175.82.172/new/
น่าน
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว
70 หมู่ 6 บ้านสวนดอก ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน 55120
โทรศัพท์ 054-791104,054-756407 โทรสาร 054-791225
เว็บไซต์   http://www.puahospital.go.th/
ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ
อุบลราชธานี
องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์
229 ม.5 ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี 34260
โทรศัพท์ 045-859639 , 045-859640 โทรสาร 045-859639
สระแก้ว 
โรงพยาบาลอรัญประเทศ
4 ถ.มหาดไทย ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 27120
โทรศัพท์ 0-3723-3033-4 โทรสาร 0-3723-3076
บุรีรัมย์
เทศบาลตำบลหนองไม้งาม
199 ม.9 ต.หนองไม้งาม อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ 31180
โทรศัพท์ 044-679976,044-679957 โทรสาร 044-679976
เว็บไซต์   http://www.nongmaingam.go.th/
เทศบาลตำบลสำโรงใหม่
ม.13 ถ.ละหานทราย-โนนดินแดง ต.สำโรงใหม่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ 31170          โทรศัพท์ 044-649009
โรงพยาบาลนางรอง
692 โชคชัย-เดชอุดม ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 31110
โทรศัพท์ 044-633456 เว็บไซต์ http://61.19.158.203/nrh/
โรงพยาบาลคูเมือง
1011 ม.6 ถ.บุรีรัมย์-พุทไธสง ต.คูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ 31190
โทรศัพท์ 044-699238-40 เว็บไซต์ http://122.154.129.170/kmh_web/
ร้อยเอ็ด  
โรงพยาบาลเสลภูมิ
279 ม.7 ต.ขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 45120
โทรศัพท์/โทรสาร 043-551322-3
เว็บไซต์   http://www.selaphumhospital.go.th/
เลย
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย
168 ม.3 ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย 42120
โทรศัพท์ 042-891276 โทรสาร 042-892379
เว็บไซต์   http://www.dansaihospital.com/
ชัยภูมิ
โรงพยาบาลภูเขียว
149 ม.4 ต.ผักปัง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ 36110
โทรศัพท์ 044-861700-4 โทรสาร 044-844742
เว็บไซต์   http://www.phukieo.net/
สุรินทร์
โรงพยาบาลปราสาท
602 ม.2 ต.กังแอน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 32140
โทรศัพท์ 044-551295 เว็บไซต์ http://www.prasathsp.org/
นครราชสีมา
โรงพยาบาลปากช่องนานา
400 ถ.มิตรภาพ ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 30130
โทรศัพท์ 044-311856 โทรสาร 044-316527
เว็บไซต์   http://www.pnnh.go.th/
อำนาจเจริญ
โรงพยาบาลอำนาจเจริญ
291 หมู่ 6 ถ.อรุณประเสริฐ ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 37000
โทรศัพท์ 045-511940-8 เว็บไซต์ http://www.amnathos.go.th/
กาฬสินธุ์
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุสินารายณ์
193 ม.13 ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ 46110
โทรศัพท์ 043-851290 เว็บไซต์ http://www.kuchihospital.com/
สกลนคร
โรงพยาบาลวานรนิวาส
1 หมู่ 9 ต.คอนสวรรค์ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 47120
โทรศัพท์ 042-973411,042-973414 โทรสาร 042-973412
เว็บไซต์   http://www.wanorn.com/
มหาสารคาม
โรงพยาบาลโกสุมพิสัย
256 ม.13 ต.หัวขวาง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม 44140
โทรศัพท์ 043-761330,043-762042
เว็บไซต์   http://www.kosum.net/webkosum/
ศรีสะเกษ
โรงพยาบาลขุนหาญ
6 ม.6 ถ.ขุนหาญ-ศรีสะเกษ ต.สิ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 33150
โทรศัพท์ 045-637468-70 โทรสาร 045-679016
ภาคกลาง
นครปฐม
โรงพยาบาลดอนตูม
183 หมู่ 5 ต.สามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม 73150
โทรศัพท์ 034-381768 โทรสาร 034-381465
เว็บไซต์   http://www.dontumhospital.com/

สมุทรสาคร
โรงพยาบาลกระทุ่มแบน
450/4 สุคนธวิท ต.ตลาดกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 74110
โทรศัพท์ 034-844430 โทรสาร 034-473388
เว็บไซต์   http://www.ktbhos.com/thai/

พระนครศรีอยุธยา
โรงพยาบาลภาชี
32 ม. 2 สุวรรณศร ต.ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา 13140
โทรศัพท์ 035-311112,035311955

สุพรรณบุรี
โรงพยาบาลบางปลาม้า
215 หมู่ 6 ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี 72150
โทรศัพท์ 035-587 265,035-400-578 โทรสาร 035-400-578 ต่อ 191
เว็บไซต์   http://www.bangplamahospital.com/

ราชบุรี
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง
8 ม.5 ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 70150
โทรศัพท์ 032-362662-4 โทรสาร 032-362665
เว็บไซต์   http://www.chombunghospital.com/

ประจวบคีรีขันธ์    
โรงพยาบาลบางสะพาน
94 ม.5 ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77140
โทรศัพท์ 032 -691133,032-691357 โทรสาร 032-691756
เว็บไซต์   http://bsphosp.com/

สระบุรี
โรงพยาบาลแก่งคอย
107 ม.8 ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี 18110
โทรศัพท์ 036-244433,036-244611 โทรสาร 036-246975
เว็บไซต์   http://www.kkhos.com/
ภาคใต้
นครศรีธรรมราช
โรงพยาบาลหัวไทร
16 ม.4 ต.หัวไทร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช 80170
โทรศัพท์ 075-337129 ต่อ 206 โทรสาร 075-337712 ต่อ 220
เว็บไซต์ http://www.huasaihospital.org/
สงขลา
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ นาทวี
20 ม.1 ถ.นาทวี-ประกอบ ต.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา 90160
โทรศัพท์ 074-373080-9 โทรสาร 074-371333
ปัตตานี
โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี
162 ถ.ท่าเสด็จ ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี 94110
โทรศัพท์ 073-411002,073-411412-3 โทรสาร 073-411414
เว็บไซต์   http://122.154.33.94/scph/
ตรัง
โรงพยาบาลห้วยยอด
17 ม.2 ถ.เทศารัษฎา ต.เขาขาว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง 92130
โทรศัพท์ 075-271049,075-272063 โทรสาร 07-5272-064
เว็บไซต์   http://www.huaiyothospital.com/
นราธิวาส
โรงพยาบาลตากใบ
114/63 ม.4 ถ.ท่าแพรก ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 96110
โทรศัพท์ 073-581200 โทรสาร 073-524227


ขาเทียมช้างขาแรกของโลก

ที่มา มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี