วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

CCW คืออะไร : ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องพิจารณา

CCW ย่อมาจาก The Convention on Certain Conventional Weapons แปลเป็นไทยสั้นๆ ว่า "อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด" ส่วนชื่อเต็มๆ ก็คือ อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย (Convention on Prohibitions or Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects) โดยตัวอนุสัญญาฯ นี้ได้รับการรองรับจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 34 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2523 และมีผลบังคับใช้ เมื่อ 2 ธ.ค. 2526 โดยทุกประเทศที่ร่วมเป็นรัฐภาคีต้องจำกัดการใช้อาวุธบางชนิดที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นต่อกำลังรบและการบาดเจ็บโดยไม่แบ่งแยกต่อพลเรือน


ที่มาของภาพ http://www.icrac.net.php53-3.dfw1-2.websitetestlink.com/
tag/convention-on-certain-conventional-weapons/
อนุสัญญา CCW ประกอบด้วยตัวอนุสัญญาแม่บท และพิธีสารแนบท้าย โดยแต่เดิมเมื่อปี 2523 มีผลบังคับใช้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศเท่านั้น ก่อนจะมีการแก้ไขในปี 2544 ได้แก้ไขให้มีผลบังคับใช้กับสถานการณ์ความขัดแย้งภายในของแต่ละประเทศด้วย

พิธีสารแนบท้าย (Protocol) ต่างๆ ที่กล่าวถึง จะเป็นตัวจำกัด/ห้ามใช้อาวุธแต่ละชนิด ซึ่งปัจจุบัน CCW มีพิธีสารอยู่ 5 ฉบับรายละเอียดดังนี้
  1. พิธีสารฉบับที่ 1 (Protocol on Non-Detectable Fragments) ห้ามการใช้อาวุธใด ๆ ก็ตาม ที่มีผลเบื้องต้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ซึ่งเมื่อสะเก็ดนั้นอยู่ในร่างกายแล้วไม่อาจตรวจพบได้โดยการเอ๊กซ์เรย์ ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 116 ประเทศ 
  2. พิธีสารฉบับที่ 2 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Mines, Booby-Traps and Other Devices) ห้ามหรือจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด (ทั้งประเภทสังหารบุคคล ต่อต้านยานพาหนะและแสวงเครื่อง) กับดัก และอาวุธอื่น ๆ (ซึ่งหมายถึงอาวุธที่วางด้วยมือ รวมถึงอาวุธระเบิดอื่นใดที่ออกแบบไว้เพื่อการสังหาร ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือการทำลาย และทำให้ระเบิดด้วยมือจากการควบคุมระยะไกล) ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม โดยการระบุถึงการควบคุมการถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และห้ามใช้ทุ่นระเบิดที่มีส่วนผสมของโลหะน้อยเกินกว่าเครื่องตรวจจะหาพบได้ ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 102 ประเทศ 
  3. พิธีสารฉบับที่ 3 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Incendiary Weapons) ควบคุมการใช้อาวุธเพลิง ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 112 ประเทศ 
  4. พิธีสารฉบับที่ 4 (Protocol on Blinding Laser Weapons) รับรองเมื่อเดือนตุลาคม 2538 มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเกี่ยวกับการห้ามการใช้อาวุธแสงเลเซอร์ที่มีผลทำให้ตาบอดถาวร ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 105 ประเทศ
  5. พิธีสารฉบับที่ 5 (Protocol on Explosive Remnants of War) ซึ่งกำหนดแนวทางการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามและส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน โดยพิธีสารฉบับที่ 5 นี้ นับเป็นพิธีสาร ฉบับล่าสุด รับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 และเริ่มมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคีตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งพิธีสารฉบับนี้มีประเทศเข้าร่วม 87 ประเทศ 
ประเทศใน ASEAN ที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี คือ สปป.ลาว และ กัมพูชา และมีการลงนามในพิธีสาร ดังนี้ 
  • สปป.ลาว เข้าร่วมพิธีสารฉบับที่ 1, 2, 3 และ 5 
  • กัมพูชา เข้าร่วมพิธีสารฉบับที่ 1, 2, 3 และ 4 
สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีแต่อย่างใด

การเข้าเป็นรัฐภาคี
การเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา CCW นั้น แต่ละประเทศเมื่อตัดสินใจร่วมเป็นรัฐภาคีแล้ว ต้องลงนามในพิธีสารแนบท้ายของอนุสัญญาฯ อย่างน้อย 2 ฉบับ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (พ.ศ.2558) มีรัฐภาคี อยู่จำนวน 121 ประเทศ

ประเด็นหลักที่เป็นข้อกังวลในกรอบอนุสัญญา CCW คือ Lethal Autonomous Weapons System ซึ่งหมายถึงอาวุธที่สามารถกำหนดเป้าหมายได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีมนุษย์มาควบคุม เนื่องจากการพัฒนาของหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์นั้นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอีกไม่เกิน 20-30 ปีอาจมีอาวุธที่สามารถเลือกเป้าหมายที่จะสังหารได้เอง จึงต้องมีการควบคุมการใช้และการพัฒนาอาวุธดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากระบบของหุ่นยนต์ไม่มีความรู้สึก นึกคิด ถึงชีวิต เพียงแต่ปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น จึงอาจทำให้มีความสูญเสียในสนามรบเกินความจำเป็นหรืออาจมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุมากกว่าทหารที่เป็นมนุษย์ และบางส่วนก็เห็นว่าการเข้าสู่ความขัดแย้งทางอาวุธจะเป็นไปได้ง่ายขึ้นทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสงครามโดยไม่จำเป็น



ที่มาของภาพ
http://prn.fm/tag/convention-on-certain-conventional-weapons/

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา CCW มีแต่การส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยกระทรวงต่างประเทศและศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ มักจะได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้แทน 

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมลงนามในอนุสัญญา CCW มากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว หากมีความจำเป็นควรที่จะมีการพิจารณาเพื่อร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญา CCW แต่เนิ่นๆ ด้วยความสมัครใจ อย่าปล่อยให้ถึงเวลาที่เวทีประชาคมโลกต้องบีบบังคับให้ประเทศไทยต้องเข้าร่วมลงนามด้วยความจำใจ

#หากเป็นเช่นนี้จะแลดูไม่งามเท่าใดนัก



ที่มาของภาพ http://www.unog.ch/80256EE600585943/(httpPages)
/7EDE18BCB181741AC12572A6002E7710?OpenDocument














ปล : พิธีสารที่ประเทศไทยสามาถเข้าร่วมได้ง่ายที่สุด คือ พิธีสารฉบับที่ 2 และฉบับที่ 5 เพราะสามารถบูรณาการเข้ากับอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ที่ประเทศไทยร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีแล้วเมื่อปี พ.ศ.2542

***************************
ชาติชาย คเชนชล : 11 พ.ย.2558

ที่มาข้อมูล
กรมองค์การระหว่างประเทศ กองสันติภาพ ความมั่นคงและการลดอาวุธ. (2558).
อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด. กระทรวงการต่างประเทศ
[Online]. Available : http://www.mfa.go.th/main/th/issues/9902-การลดอาวุธตามแบบ.html. 
[2558.พฤศจิกายน 11].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น