วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ผมอึดอัด ขอเขียนอีกครั้งครับ

ผมเคยปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 และถูกปรับย้ายออกในสมัยผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งเมื่อ 31 มี.ค.2559 เหตุเพราะขัดแย้งเรื่องนโยบายที่สำคัญ วันนี้..ผู้บังคับบัญชาฯ ท่านนั้นย้ายไปแล้ว แต่ผมยังคงถูกรับเชิญให้เดินสายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ฟังทั่วประเทศ เพื่อความเข้าใจและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

เรื่องราวเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมอึดอัด มันยังรบกวนจิตใจของผมอยู่ เรื่องราวเหล่านี้ผมเคยนำเสนอให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องฟังมาโดยตลอด หลายยุคหลายสมัย แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด นั้นคือเรื่องราวของ "ระยะเวลาในอนุสัญญาออตตาวา ที่ประเทศไทยจะสิ้นสุดตามที่ให้สัญญาไว้ในวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเหลืออีกเพียง 2 ปี" ผมอยากให้ผู้ที่มีอำนาจ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรับรู้และตัดสินใจในเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ ผมจึงขอเขียนบทความเรื่องนี้อีกครั้ง เผื่อจะสื่อไปถึงท่านเหล่านั้นได้บ้าง

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เกิดอาเพศใดฤา ปีนี้..ผู้ประสบภัยทุ่นระบิดจึงมากเหลือเกิน

นับแต่ต้นปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ (10 มิ.ย.2559) ยังไม่ถึงครึ่งปี มีผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิดแล้วจำนวน 8 คน เสียชีวิต 2 คน ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วมีเพียง 7 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต  

รายละเอียดพอจะสรุปได้ดังนี้  
  • 17 ก.พ.2559 เวลา 06:00 น. คนงานชาวเมียนมาเสียชีวิต 2 คน จากสาเหตุของทุ่นระเบิด บริเวณเชิงเขาบรรทัด บ.สะพานหิน ม.5 ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด 
  • 1 พ.ค.2559 เวลา 09:30 น. นายสว่าง คำสุขดี อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58 ม.8 และนายธงชัย เผดิมเผ่าพันธุ์ อยู่บ้านเลขที่ 160 ม.2 ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว -ขณะไปหาของป่าทั้งสองเกิดเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN ในบริเวณพื้นที่ บ.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายสว่างฯ ข้อเทาซ้ายขาด ส่วนนายธงชัยฯ บริเวณใบหน้า 
  • 2 มิ.ย.2559 เวลา 14:20 น. เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 ได้ถูกระเบิดจำนวน 2 นายขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ บริเวณตรงข้าม จต.ต.06 บ.ทัพเสรี ม.12 ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว 
  • 3 มิ.ย.2559 เวลา 16:00 น. นางหลา โกสา อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 ม.17 บ.ทุ่งสมเด็จ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN ขาข้างขวาขาด 
  • 10 มิ.ย.2559 เวลา 11:30 น. นายหงส์ สายยศ อายุ 49 ปี บ้านเลขที่ 16 ม.9 บ.ร่มไทร ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เข้าไปเก็บผักเกิดเหยีบทุ่นระเบิด ได้รับบาดเจ็บขาขวาขาดใต้หัวเข่า
ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ ประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาฉบับหนึ่งกับประชาคมโลกที่ชื่อว่า อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) โดยพันธสัญญาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ประเทศไทยต้องค้นหา เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดตกค้างจากการสู้รบในอดีตที่ผ่านมา ที่มันยังคงฝังอยู่ใต้พื้นแผ่นดินไทยให้แล้วเสร็จก่อน พ.ศ.2552 แต่จนแล้วจนรอดประเทศไทยทำไม่สำเร็จ จึงบากหน้าขอต่อสัญญาออกไปอีกครั้ง และให้สัญญาใหม่ว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2561  

หากประเทศไทยกู้ทุ่นระเบิดแล้วเสร็จตามสัญญาตั้งแต่แรก 
คงไม่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดให้เห็นจนทุกวันนี้ 



ใครควรรับผิดชอบ
หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา ก็คือ "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ทำงานภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (National Mine Action Committee : NMAC) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง

แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุขึ้น ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ จากรัฐบาลเลย  ยิ่งเป็นสามัญชนคนธรรมดาด้วยแล้ว คงมีแต่เงินช่วยเหลือตามกฏหมายภัยพิบัติอื่นๆ เหมือนคนทั่วๆ ไป และหากต้องกลายเป็นคนพิการก็ได้รับสิทธิเหมือนคนพิการทั่วๆ ไปเช่นกัน ไม่มีอะไรเป็นพิเศษจากรัฐบาลหรือกฏหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิดเลย  

ความรับผิดชอบทั้งหมดควรอยู่ที่รัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ใส่ใจที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดสิ้น ขาดความตระหนักที่จะทุ่มทรัพยากรเพื่อเก็บกู้ทุ่นระเบิดเหล่านี้ให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร และเพื่อเป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก 

ทางด้านศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานด้านนี้เป็นหลัก ก็ขาดการใส่ใจ ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุการเหยียบทุ่นระเบิดขึ้นในประเทศไทย  ต้องจัดตั้งคณะกรรมการออกไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามมาตราฐานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (NMAS) เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป แต่กลับละเลย พยายามปกปิดเรื่องราวข่าวคราวไม่ให้รุกรามใหญ่โต เพราะกลัวจะเป็นความบกพร่องของหน่วยงานตนเอง

การสอบสวนข้อเท็จจริง
การสอบสวนข้อเท็จจริงของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีความจำเป็น  เช่น
  1. เพื่อพิสูจน์ว่าจุดที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ทุ่นระเบิดที่เคยสำรวจและบันทึกไว้แล้วหรือไม่ (แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ) หากอยู่ควรต้องรีบเร่งดำเนินการ  รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงการจัดทำขอบเขตของพื้นที่และติดป้ายแจ้งเตือนอันตรายใหม่ให้ชัดเจน 
  2. หากจุดที่เกิดเหตุเป็นจุดที่เกิดขึ้นใหม่ ต้องรีบดำเนินการสำรวจขอบเขตพื้นที่อันตรายและติดตั้งป้ายแจ้งเตือนใหม่ทันที เพื่อไม่ให้ราษฎรเข้าไปใช้พื้นที่
  3. หากจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่เคยปฏิบัติงานและส่งมอบคืนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ต้องรีบประกาศขอคืนพื้นที่ให้เป็นพื้นที่อันตรายที่มีทุ่นระเบิดเช่นเดิม และรีบเข้าดำเนินการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดซ้ำในทันที
  4. หาทางช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิดให้ได้รับสิทธิต่างๆ ตามที่กฏหมายพึงมีให้
  5. ฯลฯ


Mine Risk Education 
สาเหตุที่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดจำนวนมากในปีนี้ คงไม่น่าใช่อาเพศใดๆ แต่น่าจะเป็นความไม่ค่อยใส่ใจของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรม "ด้านการแจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด"  (Mine Risk Education : MRE)  มากกว่า กิจกรรมนี้ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นราษฎรที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง พื้นที่อันตรายที่มีทุ่นระเบิดต้องจัดทำขอบเขตและติดตั้งป้ายแจ้งเตือนให้ชัดเจน 


กิจกรรม MRE นี้ เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้ราษฎรต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากทุ่นระเบิด ส่วนการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดเป็นเรื่องของหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องได้รับการฝึกฝนและมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงไม่น่าเป็นห่วงอันใด

ขอภาวนาและหวังว่าใน 6 เดือนหลังนี้ จะไม่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเกิดขึ้นอีก และหวังว่ารัฐบาลต้องดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทยภายในปี พ.ศ.2561 ตามที่ได้สัญญาไว้






















*********************
ชาติชาย คเชนชล : 13 มิ.ย.2559  

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559

หนังสือเล่มสีส้ม

หลังจากอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) มีผลบังคับใช้แล้ว การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Land Impact Survey : LIS) อย่างเป็นทางการได้เริ่มขึ้นในเดือน พ.ค.2543 โดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center : SAC) เป็นผู้ปฏิบัติการสำรวจ มีองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid : NPA) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการสำรวจ การสำรวจเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2545


วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

Landmine Monitor 2015 @Thailand

องค์กรสากลรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด (International Campaign to Ban Landmines : ICBL) เป็นเครือข่ายระดับโลก ทำงานในพื้นที่กว่า 100 ประเทศ ในการรณรงค์ต่อต้านทุ่นระเบิดและกับระเบิด ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี พ.ศ.2540  ICBL จัดทำรายงาน "Landmine Monitor" เป็นประจำทุกปีตั้งแต่เริ่มอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) เป็นต้นมา เพื่อรายงานผลการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมเป็นรัฐภาคี




ข้อมูลเมื่อเดือน พ.ย.2558 มีประเทศที่ร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวา จำนวน 162 ประเทศ โดยประเทศที่ไม่ยอมลงนามมีอีกประมาณ 34 ประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเทศที่ยังคงผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอยู่  เท่าที่ผมรู้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เวียดนาม  รัสเซีย อิสราเอล เป็นต้น 

หากมองใกล้ตัวเราในส่วนของประชาคมอาเซียน ประเทศที่ร่วมลงนามเป็นรัฐภาคีมี 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิบปินส์ ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศไม่ได้ร่วมลงนามเป็นรัฐภาคี ได้แก่ ลาว สิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม 

ในรายงาน Landmine Monitor 2015 ผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐภาคี ถูกรายงานไว้ดังนี้

ประเทศที่มีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเก็บไว้เพื่อการฝึกเกิน 1,000 ทุ่น
ประเทศไทยถูกจัดลำดับใน 38 ประเทศว่าเป็นประเทศที่มีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลสะสมไว้เพื่อการฝึกเกิน 1000 ทุ่น โดยลำดับ 1 คือประเทศฟินแลนด์ เก็บไว้ 16,500 ทุ่น รองลงมาลำดับ 2 ประเทศตุรกี เก็บไว้ 14,902 ทุ่น ประเทศไทย ลำดับที่ 16 เก็บไว้ 3,208 ทุ่น ประเทศกัมพูชา ลำดับที่ 20 เก็บไว้ 2,747 ทุ่น

นอกจากนั้นประเทศไทยยังถูกจัดว่าเป็น 3 ประเทศที่มีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิด มากกว่า 100 ตร.กม.ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้และภาคพื้นแปซิฟิค ซึ่งมีอยู่ 3 ประเทศ คือ อัฟกานิสสถาน กัมพูชา และไทย

การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิด
ประเทศที่น่าจับตามองเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินงานตามมาตรา 5 ของอนุสัญญาฯ ว่าด้วยเรื่องการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิด มีอยู่จำนวน 33 ประเทศ ทั้งหมดเป็นประเทศที่ได้เคยขอต่อระยะเวลาการเก็บกู้ทุ่นระเบิดมาแล้วครั้งที่ 1 และกำลังจะใกล้สิ้นสุดระยะเวลาตามที่ขอไว้ 

ประเทศไทยหลังจากลงนามในอนุสัญญาออตตวาฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อ 1 พ.ค.2542 ประเทศไทยต้องค้นหาและทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิดที่มีให้หมดในวันที่ 1 พ.ค.2552 (10 ปี หลังเริ่มสัญญา) แต่ประเทศไทยทำไม่สำเร็จ จึงขอขยายระยะเวลาต่อไปอีก 9.5 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 1 พ.ย.2561 

ในปัจจุบันสถานะของประเทศไทยถูกระบุว่า  "ไม่เป็นไปตามแผนงาน" (Not on track) 

ความพยายามในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด
ประเทศไทยมีการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายของผู้พิการจากทุ่นระเบิด มีแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ชัดเจน ผู้ที่รอดชีวิตมีส่วนร่วมในการดำเนินการ แต่ยังขาดกลไกในการประสานงานที่จะนำเสนอความต้องการของผู้รอดชีวิตถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เงินสนับสนุนจากผู้บริจาค
ในปี พ.ศ.2558 มีผู้บริจาคเงินสนับสนุนการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมทั่วโลก รวมถึง $416.8 ล้าน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 14,554,657,387.00 บาท ประกอบด้วย ประเทศที่เป็นรัฐภาคี 26 ประเทศ และ ประเทศที่ไม่เป็นรัฐภาคี 3 ประเทศ The EU และ 3 สถาบันระดับนานาชาติ 


5 อันดับแรกที่บริจาคเงินสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ($118.01) รองลงมา The EU ($66.8) ตามด้วย ญีุ่่ปุ่น ($49.1) นอร์เวย์ ($41.8) และเนเธอแลนด์ ($25.9) ส่วนประเทศอื่นๆ ดูตามตารางด้านบน  

การปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยในปี พ.ศ.2558 ก็ได้อานิสงส์จากเงินบริจาคดังกล่าวข้างต้นเหมือนกัน คือ
  • ประเทศนอร์เวย์ ผ่านองค์กรความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ ( Norwegian People’s Aid : NPA) Thailand (ไม่ทราบจำนวน)
  • ประเทศญี่ปุ่น ผ่านโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ (Grant Assistance for Grassroots Human Security Projects : GGP)  จำนวน $342,385.42 (ประมาณ 11.9 ล้านบาท) ให้แก่ มูลนิธิถนนแห่งสันติภาพ (Peace Road Organization Foundation : PRO ) 
  • ประเทศญี่ปุ่น ผ่านกองทุนเพื่อบูรณาการระหว่างญี่ปุ่น-อาเซี่ยน (JAPAN-ASEAN Integration Fund : JAIF)  จำนวน $473,055.96 (ประมาณ 15.4 ล้านบาท) ให้แก่ สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association : TDA) 
จากการรายงานของ ICBL  ระบุว่า เงินบริจาคจำนวน $416.8 ล้าน สนับสนุนให้ประเทศไทย จำนวน $1.0 ล้าน ส่วนเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา  ลาวได้รับ $37.3 ล้าน กัมพูชาได้รับ $30.3 ล้าน เวียดนามได้รับ $14.3 ล้าน   เมียนมาได้รับ $5.7 ล้าน 

เงินบริจาคในปี 2558 จำนวน $416.8 ล้าน สามารถจำแนกการสนับสนุนงานด้านต่างๆ ได้ดังนี้
  • งานด้านการกวาดล้างและการแจ้งเตือนให้ความรู้ฯ $281.8 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 68
  • งานด้านอื่นๆ $68.5 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 16
  • งานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด $27.7 คิดเป็นร้อยละ 7
  • งานด้านทนายและกฏหมาย $20.7 คิดเป็นร้อยละ 5
  • งานด้านการเพิ่มขีดความสามารถ $14.9 คิดเป็นร้อยละ 4
  • งานด้านการทำลายทุ่นระเบิด $3.2 คิดเป็นร้อยละไม่ถึง 1
สรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ที่ระบุไว้ในรายงาน "Landmine Monitor 2015" มีเพียงเท่านี้ หากท่านผู้อ่านสนใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ 

Landmine Monitor 2015

ที่อยู่ http://www.the-monitor.org/en-gb/reports/2015/landmine-monitor-2015.aspx

******************
ชาติชาย คเชนชล : 23 มี.ค.2559

การปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดของไทยในสายตา NPA : NGO ระดับนานาชาติ

องค์กรความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ ( Norwegian People’s Aid : NPA) ซึ่งเป็น NGO ระดับนานาชาติองค์กรหนึ่งของโลกใบนี้ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ แจ้งเตือน การเก็บกู้ทุ่นระเบิด/กับระเบิด และการลดอาวุธทุกรูปแบบ ได้จัดทำรายงานชื่อว่า "Clearing The Mines"  แจกจ่ายในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) ครั้งที่ 14 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 30 พ.ย.-4 ธ.ค.2558 ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศไทย พอจะสรุปให้ฟังเพื่อประดับความรู้ได้ดังนี้




ในอนุสัญญาออตตาวา มีประเทศที่ร่วมลงนามเป็นรัฐภาคี ณ ปัจจุบัน จำนวน 162 ประเทศ โดยประเทศในประชาคมอาเซียนที่ร่วมลงนามเป็นรัฐภาคี 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิบปินส์ ส่วนที่เหลืออีก 4 ประเทศไม่ได้ร่วมลงนามเป็นรัฐภาคี ได้แก่ ลาว สิงคโปร์ เมียนมา และเวียดนาม  

ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้อยู่ใน 10 ประเทศที่มีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดมากที่สุดในโลก อันได้แก่ Afghanistan Angola Bosnia and Herzegovina Cambodia Chad Croatia Iraq Thailand Turkey และ Zimbabwe
(ข้อมูล เดือน พ.ย.2558) 

การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิด
ด้านความคืบหน้าในการดำเนินงานตามมาตรา 5 ของอนุสัญญาฯ ว่าด้วยเรื่องการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิด : ประเทศไทยถูกระบุว่าไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานดังกล่าว โดยผู้นำทางการเมืองยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ขาดการสนับสนุนงบประมาณและการระดมทุนที่จำเป็นในการดำเนินงาน นอกจากนั้นสถานะของประเทศไทยถูกระบุไว้ว่า "ไม่เป็นไปตามแผนงาน" (Not on track) (ประเทศไทยจะสิ้นสุดอนุสัญญาฯ ที่เคยขอต่อไว้ในวันที่ 1 พ.ย.2561)

การจัดอันดับประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละประเทศ
NPA ได้จัดเกณฑ์และตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละประเทศในด้านการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดตามพันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา โดยมีเกณฑ์และตัวชี้วัดใน 10 ด้าน ใน
แต่ละด้านมีคะแนนเต็ม 10 คะแนน ดังนี้
    • ด้านที่ 1 ความเข้าใจปัญหาภัยคุกคามที่มีอยู่ของทุ่นระเบิด 
    • ด้านที่ 2 แนวโน้มความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
    • ด้านที่ 3 การกำหนดเป้​​าหมายในการกวาดล้างทุ่นระเบิด
    • ด้านที่ 4 ประสิทธิภาพของการกวาดล้างทุ่นระเบิด
    • ด้านที่ 5 การระดมแหล่งเงินทุนจากนานาชาติ
    • ด้านที่ 6 กวาดล้างทุ่นระเบิดได้ทันเวลาที่ต้องการและเป็นไปตามความเร่งด่วน
    • ด้านที่ 7 ระบบการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land Release
    • ด้านที่ 8 การปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (NMAS)
    • ด้านที่ 9 รายงานความคืบหน้าตามอนุสัญญา
    • ด้านที่ 10 การปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน (ภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา)
    ซึ่งทั้ง 10 ด้านนี้ เหมือนกับทีมตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดของ International Campaign to Ban Landmines (ICBL) ที่ได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นตาม "โครงการประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิด " ของประเทศต่างๆ ที่เป็นรัฐภาคีตามอนุสัญญาออตตาวา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 (ดูรายละเอียด)

    เกณฑ์การแปลความหมาย

    • คะแนนเฉลี่ย 0.0-3.9 หมายถึง มีประสิทธิภาพน้อยมาก 
    • คะแนนเฉลี่ย 4.0-4.9 หมายถึง มีประสิทธิภาพน้อย 
    • คะแนนเฉลี่ย 5.0-6.9 หมายถึง มีประสิทธิภาพปานกลาง 
    • คะแนนเฉลี่ย 7.0 หรือสูงกว่า หมายถึง มีประสิทธิภาพมาก
    ตารางแสดงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดของประเทศไทยตามอนุสัญญาออตตาวา ปี พ.ศ.2556 และ 2557 โดย NPA 

    ลำดับ
    ด้าน
    ประเทศไทย
    พ.ศ.2556 (2013)
    พ.ศ.2557 (2014)
    คะแนน
    ประสิทธิภาพ
    คะแนน
    ประสิทธิภาพ
    1
    ความเข้าใจปัญหาภัยคุกคามที่มีอยู่ของทุ่นระเบิด  
    4
    น้อย
    5
    ปานกลาง
    2
    แนวโน้มความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
    4
    น้อย
    5
    ปานกลาง
    3
    การกำหนดเป้าหมายในการกวาดล้างทุ่นระเบิด
    5
    ปานกลาง
    7
    มาก
    4
    ประสิทธิภาพของการกวาดล้างทุ่นระเบิด
    5
    ปานกลาง
    6
    ปานกลาง
    5
    การระดมแหล่งเงินทุนจากนานาชาติ
    5
    ปานกลาง
    5
    ปานกลาง
    6
    กวาดล้างทุ่นระเบิดได้ทันเวลาที่ต้องการและเป็นไปตามความเร่งด่วน
    4
    น้อย
    5
    ปานกลาง
    7
    ระบบการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land Release
    6
    ปานกลาง
    7
    มาก
    8
    การปฏิบัติการตามมาตรฐานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (NMAS)
    6
    ปานกลาง
    7
    มาก
    9
    รายงานความคืบหน้าตามอนุสัญญา
    4
    น้อย
    5
    ปานกลาง
    10
    การปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน (ภายใน12 เดือนที่ผ่านมา)
    7
    มาก
    6
    มาก
    รวม
    5.0
    ปานกลาง
    5.8
    ปานกลาง

    ค่าเฉลี่ยในภาพรวม
    7
    มาก
    6.7
    ปานกลาง

    ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของประเทศไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภาพรวมทั้ง 2 ปี
    • ปี พ.ศ.2556 ค่าเฉลี่ยในภาพรวม 7 คะแนน ไทยได้ 5 คะแนน
    • ปี พ.ศ.2557 ค่าเฉลี่ยในภาพรวม 6.7 คะแนน ไทยได้ 5.8 คะแนน
    ลองมาดูประสิทธิภาพการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดของประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างเช่น กัมพูชา  ดูบ้าง ว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน จะได้เป็นตัวเทียบเคียงให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตามภาพด้านล่าง



    สถานะของประเทศกัมพูชาถูกระบุไว้ว่า "ไม่เป็นไปตามแผนงาน" (Not on track) เช่นเดียวกับประเทศไทย (ประเทศกัมพูชาจะสิ้นสุดอนุสัญญาฯ ที่เคยขอต่อไว้ในวันที่ 1 ม.ค.2563) แต่ภาพรวมของการปฏิบัติงานในปี พ.ศ.2557 ประเทศกัมพูชาได้คะแนน 6.6 มากกว่าประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 5.8 หากดูในแต่ละด้านแล้ว มีด้านเดียวที่ประเทศกัมพูชาได้คะแนนต่ำกว่าไทย คือ ด้านที่ 9 รายงานความคืบหน้าตามอนุสัญญา ส่วนด้านที่เหลือเท่ากันและส่วนใหญ่จะมากกว่าไทย 

    ข้อมูลที่นำมาสรุปให้ฟังนี้ ก็เพื่อให้ผู้บริหารระดับนโบายและแผน รวมทั้งหน่วยปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ได้พึงตระหนักและพยายามหาวิธีการที่จะกลับมาปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงาน (On track) มากกว่าที่ประเทศไทยจะถูกตราหน้าว่า "Not on track" ไปตลอด จนกว่าจะสิ้นสุดอนุสัญญาออตตาวา 

    ผมคิดว่า ยังไม่สายเกินไป

    *****************
    จุฑาคเชน : 22 มี.ค.2559

    วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

    เฮง รัตนา กับงานการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมไทย-กัมพูชา

    ผมได้มีโอกาสเห็นการทำงานของ ฯพณฯ เฮง รัตนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (H.E.HENG Ratana, Director of the cambodian Mine Action Centre : CMAC) จำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

    วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

    พบสรรพาวุธระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปี

    วันที่ 23 มิ.ย.2558 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 (นปท.2) ของกองทัพเรือ ตรวจพบสรรพาวุธระเบิดที่ถูกละทิ้ง (Abandoned Explosive Ordnance : AXO) จำนวนกว่า 5,000 รายการ บริเวณเทือกเขาบรรทัด บ.หนองรี ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด นับเป็นการพบเศษขยะสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา

    TMAC presentation 2015 (English)

    วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

    การประชุมเตรียมการฝึกร่วม HMA Ex ที่อินเดีย

    ผลการประชุมวางแผนขั้นสุดท้าย (Final Planning Conference : FTC)  
    การฝึกปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (HMA Ex) และการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ (PKOs)
    วันที่ 12-14 ม.ค.2559 ณ เมืองพูเน่ สาธารณรัฐอินเดีย



    ความเป็นมา : 

    คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (Experts’ Working Group on Humanitarian Mine Action : EWG on HMA)  ซึ่งมีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (วน.) และสาธารณรัฐอินเดีย (อด.) เป็นประธานร่วม ได้ร่วมมือกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Experts’ Working Group on Peacekeeping Operations : EWG on PKOs) ซึ่งมีราชอาณาจักรกัมพูชา (กพช.) และสาธารณรัฐเกาหลี (กล.ต.) เป็นประธานร่วม กำหนดการฝึกปฏิบัติการ ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมและการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของอาเซียน ปี 2559 ระหว่าง 24 ก.พ. - 8 มี.ค.2559 ณ เมืองพูเน่ (Pune) สาธารณรัฐอินเดีย โดยใช้รหัสร่วมกันว่า "Exercise Forces Eighteen"

    วัตถุประสงค์ของการฝึกฯ 


    เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ด้านการปฏิบัติการ ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมและด้านการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ให้มีความเข้าใจถึงแนวทางในปฏิบัติงานร่วมกัน ตลอดจนเข้าใจถึงเทคนิคการปฏิบัติภารกิจระดับพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในคู่มือการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพในสนามและการปฏิบัติต่อวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากการสู้รบ ของฝ่ายปฏิบัติการรักษาสันติภาพ สำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ  




    แนวความคิดการจัดการฝึกฯ

    แนวความคิดการจัดการฝึกด้านการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ
    หน่วยที่เข้ารับการฝึกการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพเป็นหน่วยระดับหมู่ หมวด โดยจะไม่ใช้กระสุนจริงในการฝึก มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องกฎการใช้กำลัง และวิเคราะห์ภารกิจตามอาณัติ โดยจะแบ่งสถานีฝึกออกเป็น 7 สถานี ได้แก่ 


    • การทำความเข้าใจกับกฎการใช้กำลังและอาณัติของภารกิจ 
    • การลาดตระเวนทางเท้าและการรวบรวมข่าวระหว่างการลาดตระเวน 
    • การพิทักษ์ขบวนยานพาหนะ 
    • การพิทักษ์พลเรือน 
    • การรักษาความปลอดภัยและการป้องกันการโจมตี 
    • การต่อต้านวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง 
    • การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในสถานการณ์รบ 
    แนวความคิดของการจัดการฝึกด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม
    มุ่งเน้นการเพิ่มความตระหนักรู้และความระมัดระวังถึงภัยคุกคาม ความท้าทายและความรับผิดชอบของชาติต่าง ๆ ต่อการจัดการกับปัญหาทุ่นระเบิดที่ตกค้างหลังสงครามและการสู้รบ โดยจัดการฝึกหลักในเรื่อง


    • การแจ้งเตือนและการให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด (MRE)
    • การสำรวจ การทำเครื่องหมาย การตรวจค้นและการกวาดล้างทุ่นระเบิดตลอดจนวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ERW)
    • การสนับสนุนอนุสัญญาห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา)
    • การทำลายทุ่นระเบิดที่สะสมอยู่ในคลัง 
    กำหนดการฝึก
    • 23 ก.พ.2559 : ครูฝึกจากชาติต่าง ๆ รายงานตัวเข้าร่วมการฝึกฯ
    • 24 ก.พ. -1 มี.ค.2559 : ฝึกผู้ที่จะทำหน้าที่ครูฝึก
    • 1 มี.ค.2559 : ผู้รับการฝึกฯ เดินทางถึงพื้นที่ฝึกฯ
    • 2 มี.ค.2559 : พิธีเปิดการฝึกฯ และปฐมนิเทศผู้เข้ารับการฝึกฯ 
    • 3-7 มี.ค.2559 : การฝึกภาคสนาม
    • 6-8 มี.ค.2559 : การตรวจเยี่ยมการฝึกฯ
    • 8 มี.ค.2559 : พิธีปิดการฝึกฯ 

    ตารางฝึกปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม

    วัน/เดือน/ปี
    กิจกรรม
    2 มี.ค.2559
    -พิธีเปิดการฝึกฯ
    -บรรยายการปฏิบัติในการฝึกฯ แก่ผู้รับการฝึกฯ
    -งานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้เข้ารับการฝึกฯ
    3 มี.ค.2559
    -การบรรยายสรุปเรื่องการสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากทุ่นระเบิดตกค้าง และโครงการแจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด โดยหน่วยบริการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งสหประชาชาติ (UNMAS)
    -การบรรยายสรุปเรื่องการจัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิด (MACC) และการระบุประเภท การสำรวจ และการทำเครื่องหมายพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด
    -การสาธิตเรื่องการสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากทุ่นระเบิด
    -การสาธิตเรื่องการจัดตั้ง MACC
    -การสาธิตเรื่องการระบุประเภท การสำรวจ และการทำเครื่องหมายพื้นที่ปนเปื้อนจากทุ่นระเบิด
    4 มี.ค.2559
    -การบรรยายสรุปเรื่องการกวาดล้างทุ่นระเบิดด้วยเครื่องจักรกล  คนและสัตว์
    -ฝึกปฏิบัติการกวาดล้างทุ่นระเบิดด้วยเครื่องจักรกล  คนและสัตว์
    5 มี.ค.2559
    -การบรรยายสรุปเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยการฟื้นฟู การนำส่งผู้บาดเจ็บ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิดแล้ว
    -การสาธิตและเยี่ยมชมสนามฝึกระเบิดแสวงเครื่อง (IED)

    6 มี.ค.2559
    -นำชมสถานที่สำคัญในเมืองพูเน่
    -งานเลี้ยงรอบกองไฟ
    7 มี.ค.2559
    -การบรรยายโดยผู้อำนวยการฝึกฯ
    -การฝึกภาคสนามฯ
    8 มี.ค.2559
    -แถลงผลการฝึกฯ
    -พิธีปิดการฝึกฯ

    ตารางฝึกภาคสนามด้านการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ


    วัน/เดือน/ปี
    กิจกรรม
    2 มี.ค.2559
    -พิธีเปิดการฝึก
    -บรรยายสรุปสถานการณ์ฝึกฯ
    -งานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้เข้ารับการฝึกฯ
    3 มี.ค.2559
    -การบรรยายสรุปเรื่องการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของอินเดีย
    -การบรรยายสรุปเรื่องงานด้านยุทธการในพื้นที่ภารกิจ
    -การบรรยายสรุปและการสาธิตเรื่องการลาดตระเวนในพื้นที่ภารกิจ
    -การฝึกการลาดตระเวนในพื้นที่ภารกิจ
    4 มี.ค.2559
    -การบรรยายสรุปและการสาธิตเรื่องการคุ้มกันขบวนยานพาหนะ
    -การฝึกเรื่องการคุ้มกันขบวนยานพาหนะ
    -การบรรยายสรุปเรื่องการพิทักษ์พลเรือน
    5 มี.ค.2559
    -การบรรยายสรุปเรื่องภารกิจและหน้าที่ของหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
    -การฝึกเรื่องหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการรักษาสันติภาพ
    -ชมการแสดงเครื่องมือเก็บกู้วัตถุระเบิด
    6 มี.ค.2559
    -นำชมสถานที่สำคัญในเมืองพูเน่
    -งานเลี้ยงรอบกองไฟ
    7 มี.ค.2559
    -การบรรยายสรุปสถานการณ์ฝึกภาคสนามฯ
    -การฝึกภาคสนามฯ
    8 มี.ค.2559
    -แถลงผลการฝึกฯ
    -พิธีปิดการฝึกฯ


    การจัดกำลังพล ทท. เข้าร่วมการฝึกฯ : การจัดกำลังพลเข้าร่วมการฝึกด้านการเก็บกู้วัตถุระเบิดเพื่อมนุษยธรรมและด้านการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพประกอบด้วย

    • ครูฝึก/วิทยากร 2 นาย [HMA 1 นาย (ศทช.ฯ)/PKO 1 นาย (ทบ.)] 
    • ผู้รับการฝึก 20 นาย [HMA 10 นาย (ศทช.ฯ, ทบ., นย.)/PKO 10 นาย (ศสภ.ฯ, ทบ.)]
    • ผู้สังเกตการณ์ฝึก 4 นาย [HMA 2 นาย (ศทช.ฯ, นย.)/PKO 2 นาย (ศสภ.ฯ, ทบ.)]