วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กองทุน HDO ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด



เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.57  พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์ หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ พร้อมด้วยร้อยเอกสมศักดิ์ อนันต์ก้านตง ผู้บังคับหน่วยตรวจค้นทุ่นระเบิด นปท.3 เข้าเยี่ยม นายวัฒนา  ติจะนา อยู่บ้านเลขที่ 9 ม.20 บ.สำโรงเกียรติใต้ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งประสบภัยจากทุ่นระเบิดเป็นผู้พิการตาข้างซ้ายบอด สะเก็ดระเบิดตัดเส้นเอ็นแขนซ้าย เพื่อสอบถามสภาพความเป็นอยู่ตามโครงการติดตามคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ พร้อมกับได้มอบเงินและสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีพเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ โดยใช้เงินจาก "กองทุน HDO IN THAILAND เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด" (Humanitarian Demining Operations Fund for Victim : HDOFVA



วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน


ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วย “การห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” หรืออนุสัญญาออตตาวา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2540 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา นับเป็นลำดับที่ 33 ใน 121 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อมาประเทศไทยได้ส่งมอบสัตยาบรรณสารแก่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2541 นับเป็นประเทศที่ 53 ของโลก ส่งผลให้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2542 เป็นต้นมา

การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Land Impact Survey ใช้คำย่อ LIS) เริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค.2543 โดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center ใช้คำย่อ SAC) เป็นผู้ปฏิบัติการสำรวจ โดยองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid ใช้คำย่อ NPA) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการสำรวจดังกล่าว การสำรวจเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2545 ผลการสำรวจพบว่า (ศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ. 2545 : 7) ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด จำนวน 933 แห่ง ชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนทั้งสิ้น 530 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 297 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-พม่า 139 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-ลาว 90 หมู่บ้าน และตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย 4 หมู่บ้าน รวมขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,556.7 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ใน 24 จังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของราษฎรจำนวน 503,682 คน 


การกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 2,556.7 ตร.กม. ประเทศไทยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี นับแต่อนุสัญญาออตตาวามีผลบังคับใช้ (1 พ.ค.2542) นั่นหมายถึงจะต้องแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2552 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center ใช้คำย่อว่า TMAC) และองค์กรภาคเอกชน/องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ ทั้งในและต่างประเทศ ได้เริ่มดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา 

คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ. (2556 : 4-5) กล่าวว่า การดำเนินงานของประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏผลการปฏิบัติงานไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประเทศไทยได้แจ้งไว้กับที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา จนนำไปสู่การเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2551 เพื่อขอขยายเวลาปฏิบัติงานจากกำหนดเดิมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 10 ปี คือ พ.ศ.2552 ขอขยายเวลาออกไปอีก 9 ปีครึ่ง ซึ่งหมายถึงจะต้องเสร็จสิ้นภายใน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 การขอต่อสัญญาในครั้งนั้น ได้ระบุถึงปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ งบประมาณไม่เพียงพอ 

หลังจากต่อสัญญาดังกล่าวจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2557) ประเทศไทยสามารถปรัดลดพื้นที่ที่ทุ่นระเบิด ทำการส่งมอบและประกาศรับรองเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งคืนให้แก่หน่วยงานและราษฎรใช้ประโยชน์ไปแล้วจำนวน 2,080.60 ตร.กม. คงเหลือพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (Confirmed Hazardous Area ใช้คำย่อ CHA) จำนวน 335 พื้นที่ และพื้นที่อันตรายที่ระบุชัดเจนว่ามีทุ่นระเบิด (Defined Hazardous Area ใช้คำย่อ DHA) จำนวน 11 พื้นที่ รวม 476.10 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ตามภาพที่แสดงไว้ด้านบนและด้านล่าง 


การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งแรกในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย 
การสำรวจโดย NPA เมื่อปี พ.ศ.2545 พื้นที่ที่ได้ทำการสำรวจแล้วมีผลกระทบจากทุ่นระเบิดจะเรียกว่า “พื้นที่อันตราย” (Dangerous Area ใช้คำย่อว่า DA) การปรับลดพื้นที่ DA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในช่วงแรกนี้ ประเทศไทยใช้วิธีกวาดล้างพื้นที่ (Clearance) 100% ซึ่งวิธีการกวาดล้างนี้ ใช้เวลานาน การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้าและสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก การกวาดล้างพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2549 สามารถปรับลดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้เพียง 19.9 ตร.กม. ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ DA ที่เหลืออยู่ทั้งหมดจำนวน 2,536.8 ตร.กม. 


จนกระทั่งในปี พ.ศ.2550 ก่อนที่จะหมดสัญญา 2 ปี ประเทศไทยโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้นำวิธีการที่เรียกว่า “การกำหนดที่ตั้งสนามทุ่นระเบิด” (Locating Minefield Procedure ใช้คำย่อว่า LMP) เพื่อค้นหาพื้นที่ทุ่นระเบิดที่มีอยู่จริง เพราะพื้นที่ DA ที่สำรวจไว้ในสมัยปี พ.ศ.2545 นั้น หลังจากปฏิบัติงานกวาดล้างไปได้ระยะหนึ่งแล้ว พบว่าพื้นที่ DA บางพื้นที่ไม่พบทุ่นระเบิดใดๆ จึงเป็นไปได้ว่าควรจะทำการสำรวจและค้นหาพื้นที่อันตรายที่แท้จริงเสียใหม่ เพราะพื้นที่ DA ที่สำรวจโดย NPA ในครั้งนั้น เป็นแค่เป็นพื้นที่กว้างๆ ที่เปรียบเสมือนแค่ “พื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระบิด” (Suspect Hazardous Area ใช้คำย่อว่า SHA) เท่านั้น 

ในระหว่าง ปี พ.ศ.2550-2552 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1-4 (นปท.) ต่างได้รับมอบภารกิจจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ให้ใช้กระบวนการ LMP เพื่อสำรวจและปรับลดพื้นที่จาก DA ให้เหลือเป็น “พื้นที่สนามทุ่นระเบิด” (Mine Field ใช้คำย่อว่า MF) ที่แท้จริงภายใต้งบประมาณจำนวนกว่า 270 ล้านบาท ตลอด 3 ปี ในช่วงรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อเนื่องถึงรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี 

และในช่วงปีเดียวกันนี้ ทางมูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาแบบยั่งยืน (Mekong Organization for Mankind ใช้คำย่อว่า MOM) ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจาก JAPAN-ASEAN Integration Fund (ใช้คำย่อว่า JAIF) จำนวน US$ 1,282,070 เพื่อช่วยปรับลดพื้นที่ DA ในประเทศไทยและค้นหาพื้นที่ MF อีกด้วย ภายใต้ชื่อโครงการ “การสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแบบบูรณาการ” (The Integrated Area Reduction Survey Project (IARS) at Border Area with Cambodia) โดยมีหลักการเดียวกันกับกระบวนการ LMP 

การปรับลดพื้นที่ด้วยกระบวนการ LMP และ IARS สามารถปรับลดจากพื้นที่ DA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งมอบให้แก่หน่วยงานและราษฎรใช้ประโยชน์ได้ถึง 1,986 ตร.กม.เศษ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ ในปี พ.ศ.2553 คงเหลือพื้นที่ที่เป็น MF จำนวนทั้งสิ้น 551.2 ตร.กม. เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการปฏิบัติงานด้านการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทย 

การปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดด้วยวิธีการปลดปล่อยพื้นที่ (Land Release)

หลังจากได้พื้นที่ MF เมื่อปี พ.ศ.2553 แล้ว ประเทศไทยยังคงใช้วิธีการกวาดล้าง 100% เพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยตามเดิม จนกระทั่งกลางปี พ.ศ.2555 ประเทศไทยโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้นำวิธีการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดด้วยวิธีการปลดปล่อยพื้นที่ (Land Release ใช้คำย่อว่า LR) เข้ามาใช้แทนวิธีการกวาดล้าง (Clearance) พื้นที่ MF ได้ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “พื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด” (Confirmed Hazardous Area ใช้คำย่อว่า CHA) และวิธีการปรับลดพื้นที่ CHA ด้วยวิธีการ Land Release นี้ ได้ใช้ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน 



ในปีงบประมาณ 2555 สามารถปรับลดพื้นที่ CHA ด้วยวิธีการ Land release ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จำนวน 16.22 ตร.กม. เนื่องจากเป็นปีแรกที่ใช้ จึงเกิดการทดลองนำร่องในบางพื้นที่และ นปท.ต่างๆ ยังขาดความเข้าใจในขั้นตอนและกระบวนการ ต่อมาในปีงบประมาณ 2556 สามารถปรับลดพื้นที่ CHA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จำนวนถึง 36.36 ตร.กม. ส่วนในปีงบประมาณ 2557 กลับปรับลดพื้นที่ได้เพียง 26.62 ตร.กม. ซึ่งมีปริมาณลดลงจากปีงบประมาณ 2556 เนื่องจากพื้นที่ CHA มีความยากในการทำงานมากขึ้น บางพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน ห่างไกล การเดินทางเข้าถึงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก 

การสำรวจของ APOPO-PRO 
ในปี พ.ศ.2554-2555 องค์กร APOPO (Anti Persoonsmijnen Ontmijnende ProductOntwikkeling) จากประเทศเบลเยี่ยม ร่วมกับมูลนิธิถนนเพื่อสันติภาพ (Peace Road Organization ใช้คำย่อว่า PRO ) ได้ทำการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดใหม่ในพื้นที่ จ.ตราด จำนวน 72 ตร.กม. ภาพใต้ชื่อโครงการ “การสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical” ภายใต้การทำงานร่วมกับ นปท.2/นปท.ทร. 

ผลจากการสำรวจฯ (APOPO-PRO : 2012) พบว่าประมาณ 52% ของพื้นที่ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่ยืนยันว่ามีอันตรายจากทุ่นระเบิด ( CHA) ในปัจจุบัน มีหลักฐานว่ามีทุ่นระเบิดจริงหรือมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีทุ่นระเบิดอยู่ในพื้นที่ ขณะที่อีกราว 32% ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับทุ่นระเบิดและเป็นเพียงข้อสงสัยของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ พื้นที่ 7% ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จึงกำหนดเป็นพื้นที่ประเภทจำกัดการใช้งาน (AWR) ขณะที่พื้นที่อีก 9% ทาง APOPO-PRO มีความเห็นว่าควรทำการยกเลิกหรือถอดถอนสถานะจากพื้นที่ทุ่นระเบิด ตามข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนในพื้นที่ ดังภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง 


APOPO-PRO (2012). ยังกล่าวต่อว่า “จากผลเชิงสถิติของพื้นที่ จ. ตราดนี้ แสดงให้เห็นว่าหากมีการนำวิธีการสำรวจด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ทางเทคนิค ( NTS) ที่ถูกต้องไปใช้ทั่วประเทศแล้ว พื้นที่ที่ต้องการการกวาดล้างจริงๆ ในประเทศไทยน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ที่ยืนยันว่ามีอันตรายจากทุ่นระเบิด (CHA) ในระบบฐานข้อมูลปัจจุบัน” 

ผลการสำรวจพื้นที่ จ.ตราด ตามโครงการสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical ของ APOPO-PRO นี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดการปรับลดพื้นที่ใดๆ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเลย เนื่องจากการสำรวจของ APOPO-PRO ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของขอบเขตพื้นที่ที่เป็น MF หรือ CHA แต่อยู่บนพื้นฐานของพื้นที่ในขอบเขตของตำบล จึงไม่สามารถนำไปปรับลดในฐานข้อมูลพื้นที่ทุ่นระเบิดของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติได้ จากการสืบค้นพบว่า แนวความคิดการสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical นี้เป็นของ Mr. Håvard Bach ซึ่งขณะนั้นสังกัดองค์กร APOPO โดยมี Mr.Andrew Sully เป็น Programme Manager ภายใต้ชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการสำรวจข้อมูลและปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิด” 

ต่อมาในปี พ.ศ.2556-2557 APOPO-PRO ภายใต้การนำของ Mrs.Kim Warren Programme Manager ภายใต้ชื่อโครงการเดียวกัน ได้เปลี่ยนวิธีการสำรวจแบบ NTS จากพื้นฐานพื้นที่ในขอบเขตของตำบลเป็นพื้นฐานพื้นที่ตามขอบเขตของพื้นที่ CHA ในเขต อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ และ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี จากวิธีการสำรวจใหม่นี้ APOPO-PRO จึงมีผลงานในการปลดปล่อยพื้นที่ CHA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จำนวนหนึ่ง โดยการปลดปล่อยพื้นที่ด้วยวิธีการสำรวจที่ไม่ใช่ทางเทคนิค (Land Release by NTS) ซึ่งเป็นไปตามกระบวนปรับลดพื้นที่ด้วยวิธีการ Land Release 

ขั้นตอนและกระบวนการการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 
ขั้นตอนและกระบวนการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สามารถสรุปเป็นแผ่นภาพได้ดังนี้ 





จากภาพด้านบนแสดงให้เห็นขั้นตอน และกระบวนการตั้งแต่การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด (Landmine Impact Survey : LIS) จนกระทั่งกลายเป็นพื้นที่ CHA ในปัจจุบัน เอกสารหรือรายงานต่างๆ มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ซึ่งแต่ละเอกสาร/รายงานต่างๆ พอสรุปเนื้อหาที่ได้ทำรายงานไว้ดังนี้ 
  1. แบบสำรวจระดับ 1 (ส.ร.1) เป็นรายงานที่เป็นผลจาก LIS ใช้ประกอบกับพื้นที่ DA มีรายละเอียดดังนี้ 
    1. แผ่นสรุป
    2. ส่วนข้อมูลสำรวจระดับที่หนึ่ง ประกอบด้วย ประวัติการต่อสู้ด้วยอาวุธในพื้นที่หมู่บ้านการปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิด ผลกระทบจากทุ่นระเบิด จำนวนผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และ UXO ข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้าน ระดับความรุนแรงของพื้นที่ต้องสงสัย ข้อมูลเพิ่มเติม 
    3. ส่วนข้อมูลหมู่บ้าน ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป สิ่งอำนวยความสะดวกในหมู่บ้าน 
    4. ความเห็นหลังทำแบบสรุปผลการเยี่ยมหมู่บ้าน ได้แก่ ความเห็นของเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล, บรรณาธิการภาคสนาม และหัวหน้าภาคสนาม 
    5. แบบสอบถามผู้ประสบภัย ประกอบด้วย รายละเอียดต่างๆ รายชื่อผู้ประสบภัย จำนวนผู้ประสบภัย ภายใน 24 เดือน จำนวนผู้ประสบภัย มากกว่า 24 เดือน 
    6. รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม 
    7. แบบสำรวจผลกระทบ รายละเอียดบริเวณพื้นที่ที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิด วัตถุระเบิดผลกระทบจากทุ่นระเบิด พื้นที่เคยทำอะไรมาก่อน แผนพัฒนา กรรมสิทธิ์ที่ดินอื่นๆ การตรวจสอบข้อมูลจากการสัมภาษณ์และสังเกต รายละเอียดเพิ่มเติม 
    8. แบบสำรวจสัณฐานของพื้นที่ที่มีระเบิด ประกอบด้วย ชื่อสถานที่ ลักษณะพื้นที่ ขนาดพื้นที่ จุดสังเกต/จุดถ่ายภาพ ลักษณะภูมิประเทศ การกวาดล้างทุ่นระเบิด การทำเครื่องหมาย แผนที่ภาพร่างพื้นที่ที่ต้องสงสัย 
    9. แนบบันทึกข้อมูลพื้นที่ทุ่นระเบิดร่วม 
    10. ภาพร่างแผนที่ 
  2. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิคระดับ 2 (ส.ร.2) ใช้สำรวจอีกครั้งต่อจาก ส.ร.1 ก่อนที่จะทำการกวาดล้าง มีรายละเอียดดังนี้ 
    1. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิค ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ค่าพิกัดของหมุดหลักฐาน/จุดอ้างอิง 
    2. รายงานพื้นที่ทุ่นระเบิด ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ทุ่นระเบิดจุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดและเส้นรอบรูป รายละเอียดพิกัดแสดงเส้นรอบรูปของพื้นที่ ขนาดของพื้นที่ เครื่องหมายเตือน ประมาณการชนิดทุ่นระเบิดและ UXO ที่คาดว่าจะพบ การจำแนกข้อมูล การเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิด และ UXO ข้อเสนอแนะ ผลกระทบด้านเกษตรกรรม ผลกระทบด้านแหล่งน้ำ ผลกระทบด้านพื้นที่ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม ผลกระทบด้านสิ่งก่อสร้าง/สิ่งอำนวยความสะดวกหลัก คำแนะนำด้านการอบรมให้ความรู้รายละเอียดเพิ่มเติม และความคิดเห็น
    3. เอกสารแนบ ประกอบด้วย แผนที่ภาพร่าง ภาพถ่าย ฯลฯ
  3. Completion Report (ส.ร.3) ใช้ประกอบเพื่อปรับลดพื้นที่จากการกวาดล้าง ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป พิกัดหมุดหลักฐาน/จุดอ้างอิง รายละเอียดของพิกัดแสดงเส้นรอบรูปของพื้นที่ จำนวนและชนิดทุ่นระเบิด/UXO ที่ถูกทำลายแล้ว จำนวนและชนิดทุ่นระเบิด/UXO ที่มีการทำเครื่องหมาย แผนที่ภาพร่าง รับรองการรายงานข้อมูล 
  4. รายงานผลการสำรวจซ้ำเพื่อจำแนกพื้นที่ (ส.ร.1.1) ใช้จำแนกพื้นที่ตอน LMP/IARS ว่าพื้นที่ใดปรับลดได้หรือไม่ได้ ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป พิกัดหมุดหลักฐาน/จุดอ้างอิง การดำเนินการสำรวจ การจำแนกพื้นที่ 
  5. รายงานการดำเนินการปรับลดพื้นที่ (ปพ.1) ใช้ในการปรับลดพื้นที่ตอนทำ LMP/IARS ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีรายละเอียดดังนี้
    1. การดำเนินการปรับลดกระทำโดยเก็บข้อมูลและการสุ่มตรวจ ประกอบด้วย การเก็บข้อมูล การจำแนกพื้นที่
    2. การสุ่มตรวจ ประกอบด้วย ผลการสุ่ม 
    3. เอกสารแนบ ประกอบด้วย รายชื่อราษฎรและผู้เข้าร่วมการประชุม
    4. ความเห็นของเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล หัวหน้าหน่วยตรวจค้นทุ่นระเบิด และผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม 
  6. รายงานผลการสำรวจขั้นเทคนิค(ขั้นที่ 2) ปรับลด (ส.ร.2.1) ประกอบด้วย พิกัดเส้นรอบรูปพื้นที่ปรับลด และแผนที่ภาพร่าง 
  7. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิคระดับ 2 (ส.ร.2) ใหม่ ใช้ประกอบ MF มีรายละเอียด ดังนี้
    1. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิค(Survey Level 2) ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป และพิกัดของจุดสำรวจ 
    2. รายงานพื้นที่ทุ่นระเบิด (MF) ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ทุ่นระเบิด จุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดและเส้นรอบรูป รายละเอียดพิกัดแสดงเส้นรอบรูปของพื้นที่ ขนาดของพื้นที่ เครื่องหมายเตือน ประมาณการชนิดทุ่นระเบิด การเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิด และ UXO ผลกระทบด้านเกษตรกรรม ผลกระทบด้านแหล่งน้ำ ผลกระทบด้านพื้นที่ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม ผลกระทบด้านสิ่งก่อสร้าง/สิ่งอำนวยความสะดวกหลัก คำแนะนำด้านการอบรมให้ความรู้ รายละเอียดเพิ่มเติม และความคิดเห็น 
    3. เอกสารแนบ ประกอบด้วย แผนที่ ภาพร่าง ภาพถ่าย ฯลฯ 






หลังจากวิธีการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ด้วยวิธีการ Land Release ถูกนำเข้ามาใช้ในกลางปี พ.ศ.2555 เอกสารและรายงานต่างๆ ได้เปลี่ยนไปตามภาพด้านบน ที่สำคัญได้แก่ NTS report, TS report, DHA report, Release Area report และ Completion report และในเวลาต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ.2556 ต่อต้นปี พ.ศ.2557 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้ทำการวิจัยเรื่องการประเมินผลกระทบจากพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดที่เหลืออยู่ในประเทศไทยเสียใหม่เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและจัดลำดับความเร่งด่วนในการปฏิบัติงาน จึงได้มีการสำรวจพื้นที่ CHA ใหม่อีกครั้งโดยใช้แบบฟอร์มการสำรวจผลกระทบ พ.ศ.2557 (Impact Assessment 2014 : IA2014) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  1. ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ CHA ประกอบด้วย ชื่อพื้นที่ ขนาดพื้นที่ สถานที่ตั้ง ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ การจำแนกพื้นที่ CHA การใช้พื้นที่ในปัจจุบัน การเดินทางเข้าสู่พื้นที่ ยานพาหนะที่สามารถเข้าสู่พื้นที่ ระดับความยากง่ายในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ มีป้ายแจ้งเตือนหรือไม่ ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ ความลาดชันของพื้นที่ ลักษณะของป่าที่ปกคลุม ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ พื้นที่ CHA มีปัญหาอุปสรรคเรื่องใดบ้างข้อมูลผลการสำรวจเดิม
  2. ข้อมูลด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ประกอบด้วย ประโยชน์ที่ได้รับหากสามารถปลดปล่อยได้ หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ลักษณะผลกระทบ จำนวนราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เคยมีการแจ้งทางราชการให้เก็บกู้ทุ่นระเบิดหรือไม่ สาเหตุที่หน่วยราชการไม่เก็บกู้ พื้นที่ CHA กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อะไรบ้าง พื้นที่ CHA มีแผนการพัฒนาอะไรบ้าง 
  3. ข้อมูลด้านผู้ประสบภัย ประกอบด้วย จำนวนครั้งที่ประสบภัยในรอบ 5 ปี จำนวนผู้บาดเจ็บ อุบัติเหตุครั้งล่าสุด กิจกรรมที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมา ผู้ประสบภัยเป็นใคร ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ หน่วยงานใดที่เข้ามาช่วยเหลือ 
  4. ข้อมูลด้านทุ่นระเบิด/UXO ประกอบด้วย มีหลักฐานของทุ่นระเบิด/UXO หรือไม่ หลักฐานที่คิดว่ามีทุ่นระเบิด/UXO ประมาณการทุ่นระเบิด/UXO ที่คาดว่าจะพบ มีการเคลื่อนย้ายทุ่นระเบิด/UXO โดยราษฎรหรือไม่ ทุ่นระเบิด/UXO ที่ถูกเคลื่อนย้ายทำไมต้องเคลื่อนย้าย 
  5. รายชื่อผู้ให้ข้อมูล 
  6. การประเมินผลด้านต่างๆ 
  7. ความเห็นเพิ่มเติม 
  8. เอกสารแนบ 
  9. การประมาณการระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 
จากที่กล่าวมาจะพอสรุปได้ว่าพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทย เริ่มแรกที่เรียกว่าพื้นที่ DA ได้ผ่านขั้นตอนการดำเนินการและการสำรวจใหม่จำนวนหลายครั้ง ทั้งการกวาดล้าง การ LMP การ IARS กว่าจะมาเป็น พื้นที่ MF และเปลี่ยนชื่อมาเป็นพื้นที่ CHA ที่ใช้ในปัจจุบัน และนอกจากนั้นใน ปี พ.ศ.2557 ก็ยังมีการสำรวจใหม่อีกครั้งภายใต้โครงการวิจัยฯ ที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18-20 ส.ค.2557 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้เชิญ Mr. Håvard Bach CTA, Operational Methods ขององค์กร NPA มาบรรยายเรื่องการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land Release ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ Mr. Håvard Bach ได้เสนอแนวความคิดใหม่ในเรื่องการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทย โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทยในขณะนี้ กลับไปเป็นพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (SHA) แล้วดำเนินการสำรวจขั้นพื้นฐานใหม่ ด้วยวิธีการ Base Line Survey (BLS) พื้นที่ใดที่ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับทุ่นระเบิดจะสามารถยกเลิกพื้นที่ (Cancel) ได้เลย ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้จะมีจำนวนมาก และต่อเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่ามีทุ่นระเบิดแล้วจึงค่อยปรับเปลี่ยนสถานะเป็นพื้นที่ CHA แล้วปรับลดพื้นที่ด้วยวิธีการ Land Release ตามเดิม 

หลังจากนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ จึงได้นำแนวความคิดใหม่นี้ไปหารือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับสากล ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนให้การสนับสนุนแนวความคิดใหม่นี้ และคาดว่าหากใช้วิธีการนี้แล้ว ประเทศไทยจะสามารถปรับลดพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้มากกว่าในปัจจุบัน และสิ่งสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะถูกมองว่ามีความพยายาม และกระตือรือร้น ที่จะปฏิบัติตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดที่ได้ลงนามไว้อย่างเต็มความสามารถ 

ต่อมา พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในขณะนั้น ได้อนุมัติตามข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2557 ท้ายหนังสือ ฝยก.ศบท. ที่ กห 0318.4/680 ลงวันที่ 22 ก.ย.2557 เรื่อง ขออนุมัติแนวทางปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุภารกิจตามอนุสัญญาออตตาวา ดังนี้ 

  1. ให้ ศทช.ศบท.ดำเนินการปรับพื้นที่ CHA เดิมให้เป็นพื้นที่ SHA และดำเนินการจัดทำ BLS ในพื้นที่ทั้งหมด โดยหากในพื้นที่ใดผ่านเกณฑ์การ Cancel เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้ดำเนินการตามแนวทาง LR สำหรับพื้นที่ใดได้รับการยืนยันว่าเป็นพื้นที่ CHA คือได้ตรวจพบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลด้วยวิธีการ TS แล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการกำหนดเขต (Buffer) ตามขั้นตอนของ LR และกวาดล้าง (Clearance) ต่อไป 
  2. ให้ ศทช.ศบท.ปรับกำลังพลของ นปท. ที่ดำเนินการในพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วไปปฏิบัติงานสมทบกับ นปท.ในพื้นที่ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ 
  3. ให้ ศทช.ศบท.จัดชุดปฏิบัติงานจากองค์กรเอกชนเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่เคยปฏิบัติงานในไทย และยุติการปฏิบัติงานไปเนื่องจากขาดงบประมาณ กลับมาดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ ศทช.ศบท.หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอที่จะดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้เสร็จสิ้นทันระยะเวลาที่ประเทศไทยได้รับการขยายถึง พ.ย.2561 
การปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่นี้ สามารถเขียนแผนภูมิได้ตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง 




การเตรียมการเพื่อปรับเปลี่ยน
เพื่อให้การปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่นี้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง มีความรอบคอบและรัดกุม ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) จึงได้มอบหมายให้ NPA และ นปท.4 ร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อเป็นการนำร่องในพื้นที่ CHA 713-01 บ.หนองหลวง ต.หนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ขนาดพื้นที่ 4,441,153 ตร.ม. และให้มานำเสนอวิธีการให้ นปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ทราบที่ประชุมเชิงปฏิบัติการตามที่วางแผนไว้จำนวน 2 ครั้ง ในเดือน ธ.ค.2557 และ ม.ค.2558 ตามภาพด้านล่าง 





หลังจากที่ นปท.4 และ NPA นำร่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในเดือน ก.พ.2558 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) จะจัดให้มีการระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมกันจัดทำกระบวนการขั้นตอนการสำรวจขั้นพื้นฐาน (BLS) และออกแบบการรายงานต่างๆ รวมทั้งจะจัดให้มีการบรรยายให้ความรู้จากหน่วยงานหรือองค์กรในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งแนวทางการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่นี้มีความสมบูรณ์ ต่อจากนั้น นปท.ทุก นปท.รวมทั้ง NGO ที่ปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย (HDO In Thailand) ทั้งหมดจะเริ่มปฏิบัติพร้อมกัน ตามแนวคิดใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.2558 เป็นต้นไป 

ข้อพิจารณาเพื่อประกอบการวางแผนการปฏิบัติงานตามแนวทางการปรับลดพื้นที่ใหม่
จากการตรวจสอบอย่างละเอียดจากฐานข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) พื้นที่ CHA ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจำนวน 476,100,275 ตร.ม. นั้น สามารถแบ่งตามกระบวนการที่ถูกกระทำต่อพื้นที่ได้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ (ดูภาพด้านล่างประกอบ) 
  1. พื้นที่ CHA ที่ไม่ได้ถูกกระบวนการใดๆ กระทำเลย ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากขนาดของพื้นที่อันตราย คือ ขนาดพื้นที่ DA = ขนาดพื้นที่ MF = ขนาดพื้นที่ CHA ในปัจจุบันพื้นที่ CHA ลักษณะนี้มีจำนวน 43 พื้นที่ ครอบคลุม 13 จังหวัด รวมพื้นที่ 101,788,824 ตร.ม. (รายละเอียดแสดงไว้ตามผนวกแนบท้าย) ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ SHA ได้ในทันที
  2. พื้นที่ CHA ที่ถูกกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งกระทำแล้ว ได้แก่ การกวาดล้าง การปรับลดด้วย LMP หรือ IARS หรือการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธีการ Land Release พื้นที่ CHA ลักษณะนี้มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 374,311,451 ตร.ม. พื้นที่เหล่านี้อาจก่อให้เกิดความสับสนต่อการปฏิบัติงานการปรับลดพื้นที่ตามแนวทางใหม่ได้ 



หากหน่วยต่างๆ ที่ปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย จะเริ่มดำเนินงานการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่ในเดือน มี.ค.2558 แล้ว หน่วยควรเลือกวางแผนปฏิบัติงานในพื้นที่ CHA ที่ไม่ได้ถูกกระบวนการใดๆ กระทำเลย ตามข้อ 1 ซึ่งจะสามารถมองเห็นแนวทางการปฏิบัติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วจึงค่อยขยายผลต่อไปยัง พื้นที่ CHA ที่ถูกกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งกระทำแล้ว

ผนวกแนบท้าย : พื้นที่ CHA ที่ไม่ได้ถูกกระบวนการใดๆ กระทำ (DA=MF=CHA)

******************************** 

เขียนโดย พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ 
โทร.02-929-2112,081-434-8777 โทรสาร.02-929-2002 
FB : www.facebook.com/COED.TMAC 
อีเมล์ : Coedtmac2014@gmail.com

อ้างอิง

  • คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ. (2556). รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องความคืบหน้า การดำเนินงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณพื้นที่แนวชายแดน และการปฏิบัติตามพันธกรณี ในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอนและทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา). กรุงเทพฯ :สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 
  • ศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ และองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์. (2545). การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. (2556). มาตรฐานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • ส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล. (2556). รายงานผลงานของส่วนประสานการปฏิบัติและ ประเมินผล ประจำปีงบประมาณ 2556. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • ส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล. (2557). รายงานผลงานของส่วนประสานการปฏิบัติและ ประเมินผล ประจำปีงบประมาณ 2557. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • APOPO-PRO. (2012). รายงานสรุปการสำรวจพื้นที่จังหวัดตราด โครงการสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical. กรุงเทพฯ : APOPO-PRO.

วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

TMAC คืนรัง




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์ 

เผาเพิงพักชาวเขมรลักลอบตัดไม้พะยูง




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์

TMAC หัวใจผูกกัน




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์ 

TMAC ยิ่งสูงยิ่งหนาว




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์

TMAC-คนดีไม่มีวันตาย




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์

Thailand Mine Action Center 2014 (ภาษาอังกฤษ)




ที่มา : สุชาต  จันทรวงศ์

สถานการณ์ทุ่นระเบิดในประเทศไทย พ.ศ.2555




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์

APOPO Pro,Mine Action in Thailand




ที่มา : สุชาต  จันทรวงศ์

Thailand Experience in Victim Assistance




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์ 

แนะนำ ศทช. (TMAC)




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์

การทำลายทุ่นระเบิด วันทุ่นระเบิดสากล




ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์

Thailand Mine Action Center 2014 (ภาษาอังกฤษ)





ที่มา : สุชาต จันทรวงศ์

"ไขปมข่าว" ทุ่นระเบิดกับการเก็บกู้ที่ไม่รู้วันหมด




ที่มา : SpringNews

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

HANDICAP กับประเทศไทย ตอน : พิษภัยของทุ่นระเบิด


ผมไปค้นหาเอกสาร หนังสือ หรือนิตยสารเก่าๆ ที่  ศูนย์ปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) เตรียมจะทำลายทิ้ง  เผอิญไปพบเรื่องราวขององค์กรหนึ่งที่พยายามช่วยเหลือประเทศไทยเกี่ยวกับพิษภัยของทุ่นระเบิด เห็นแล้วรู้สึกชื่นชม แต่ปัจจุบันองค์กรนี้จากประเทศไทยไปแล้วไม่รู้เพราะอะไร



























โครงการเกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ค.2547-เม.ย.2548 ชื่อโครงการ "การให้ความรู้เรื่องภัยทุ่นระเบิดใน จ.ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี" ดำเนินการโดย องค์การแฮนดิแคป อินเตอร์เนชั่นแนล-ประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 3 และเขต 4 และสำนักเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 3 และเขต 5 ภายใต้การสนับสนุนของ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF)


ในปีนั้น จ.ศรีสะเกษมีขนาดของพื้นที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิดมากที่สุด (541.8 ตร.กม.) รองลงมาคือ จ.อุบลราชธานี (510.1 ตร.กม.) พื้นที่เป้าหมายของโครงการนี้ คือ อ.ภูสิงห์ อ.ขุนหาญ อ.กันทรลักษ์ ใน จ.ศรีสะเกษ และ อ.น้ำขุ่น อ.น้ำยืน อ.นาจะหลวย อ.บุณฑริก และ อ.สิรินธร ใน จ.อุบลราชธานี โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

"เด็กและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และ ไทย-ลาว ของ จ.ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี สามารถป้องกันตนเองจากภัยทุ่นระเบิดได้" 

ตอนนั้นมีโรงเรียนใน จ.ศรีสะเกษ จำนวน 16 โรงเรียน และใน จ.อุบลราชธานี จำนวน 16 โรงเรียน  รวม 32 โรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ตามหลักเกณฑ์ คือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดสูง ระยะห่างระหว่างโรงเรียนและเขตชายแดน และคำแนะนำจากประชาชนและหน่วยงานในท้องถิ่น 



ชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและวิธีการให้ความรู้


























กรอบความคิดในการทำงาน
การดำเนินงานเพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คือ ชุมชน โรงเรียน หน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแกนนำ อีกทั้งการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้แก่เด็กและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากทุ่นระเบิด 

ผลที่ได้รับจากโครงการ
จำนวนผู้ได้รับความรู้หรือความตระหนักเรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดหลังเสร็จสิ้นโครงการ ได้แก่ นักเรียน(32 โรงเรียน) จำนวน 3,373 คน ชาวบ้าน 139 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา 31 คน คณาจารย์และศึกษานิเทศน์ 35 คน ประชาชนทั่วไปที่ได้รับความตระหนักในภัยทุ่นระเบิด (ผู้ประสบภัย ชาวบ้าน ข้าราชการ และผู้นำชุมชน) 3,500 คน

ปัญหาสำคัญที่ประสบขณะดำเนินงานโครงการในขณะนั้น
ปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารในเขตชายแดน เนื่องจากระบบการติดต่อสื่อสารยังไม่ครอบคลุมและเข้าไม่ถึงบางพื้นที่ปฏิบัติงาน ทำให้ในบางเวลาไม่สามารถติดต่อประสานงานได้ ส่งผลให้โรงเรียนเป้าหมาย 1 โรงเรียนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ 


นอกจากนั้นยังพบว่าชาวบ้านบางคนยังไม่ตระหนักในภัยทุ่นระเบิด ประกอบกับมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเดินทางเข้าป่าโดยคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดเหล่านี้ ถือเป็นความยากลำบากของคณะทำงานในการสร้างความตระหนักในภัยทุ่นระเบิด












ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนางานด้านการให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด
ผู้ดำเนินการโครงการได้เสนอไว้ดังนี้
  1. การให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดอย่างยั่งยืนนั้น ควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
  2. ภาครัฐ ชุมชน และองกรค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการกิจกรรม เช่นเดียวกับประชาชน ควรสนับสนุนกิจกรรมการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด
  3. ภาครัฐควรเสนอข้อมูลข่าวสาร ปัญหา และผลกระทบของภัยทุ่นระเบิดที่ถูกต้องแก่ประชาชน อีกทั้งส่งเสริมกิจกรรมให้ความรู้เรื่องป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดแก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตชายแดน เพื่อถ่ายทอดต่อให้แก่นักเรียน
  4. ประชาชนในชุมชน ควรสนับสนุนกิจกรรมการให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดในชุมชนและสังคม โดยให้กลุ่มผู้ประสบภัยเป็นแนวร่วม
  5. ครูสามารถเป็นผู้ประสานงานในชุมชน เพื่อดำเนินงานด้านทุ่นระเบิด อันประกอบด้วย การเก็บกู้ทุ่นระเบิด การให้ความรู้เรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด และการช่วยเหลือผู้พิการจากภัยทุ่นระเบิด
  6. หลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างยิ่งในการให้ความรู้ถึงแม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดลง

โครงการนี้ผมเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ขอขอบคุณ HANDICAP INTERNATIONAL-THAILAND และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ข้อเสนอแนะของโครงการนี้ ในปัจจุบัน ผมยังไม่เห็นว่ามีหน่วยงานใดนำมาสานต่อเลย แม้กระทั่ง TMAC เอง โดยเฉพาะเรื่อง "การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด" คนเก่าๆ เล่าให้ผมฟังว่าองค์การแฮนดิแคปฯ นี้ ได้จัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ผมกำลังค้นหาอยู่ว่าปัจจุบัน สื่อเหล่านี้อยู่ที่ไหนบ้าง

ขอขอบคุณ HANDICAP INTERNATIONAL-THAILAND


*****************************

พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์ : 26 พ.ย.2557

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ยาวนาน


โครงการวิจัยและพัฒนาการทำลายทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา  ได้มอบเครื่องจักรกลช่วยในการกวาดล้างทุ่นระเบิด BEAVER ให้กับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เพื่อสำหรับจัดแสดงอยู่กับที่  





























เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2557 โครงการวิจัยและพัฒนาการทำลายทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา (The United States of America's Humanitarian Demining Research and Development Program) โดย Mr.Burke เป็นผู้แทนมอบเครื่องจักรกลช่วยกวาดล้างทุ่นระเบิด BEAVER ให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติใช้จัดแสดงอยู่กับที่ (Static Display) เพื่อการเรียนรู้ โดยมี พล.ท.กฤษดา นรภูมิพิภัชน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เป็นผู้รับมอบ และมี พ.ต.คริส กู๊ดริช Army FMS Programs, Joint U.S. Military Advisory Group - Thailand ร่วมเป็นสักขีพยาน 

BEAVER เป็นเครื่องตัดวัชพืช กว้าง 1.28 เมตร ยาว 2.31 เมตร หนัก 3.3348 ตัน ใช้กวาดล้างพื้นที่ป่าหนาทึบ และต้นไม้ขนาดเล็ก ขนาดกลางได้ดี การทำงานต้องใช้ Duck เป็นรีโมทคอยควบคุมการทำงานระยะไกล  หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 4 ใช้ BEAVER ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุ่นระเบิด จ.น่าน จ.พะเยา และอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 และต่อมาปี พ.ศ.2555 มอบต่อให้หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 2 ใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จ.ตราด รวมระยะเวลาการปฏิบัติงานในประเทศไทย 13 ปี ช่วยกวาดล้างพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทยได้ประมาณ 13 ตร.กม. 

ปัจจุบัน เจ้า BEAVER หมดอายุการใช้งานแล้ว ทางโครงการวิจัยฯ จึงได้มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติใช้จัดแสดงเป็นอนุสรณ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ยาวนาน และบ่งบอกถึงความพยายามที่จะสนับสนุนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดภัยจากทุ่นระเบิดโดยเร็ว





























วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แหล่งข้อมูลผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด


สำหรับเพื่อนพี่น้อง HDO ทั้งหลายที่กำลังจะเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่อันตรายที่ยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ในปีนี้ ข้อมูลข่าวสารนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในการเข้าทำการสำรวจที่ไม่ใช่ทางเทคนิค (NTS) โดยเฉพาะข้อมูลผู้ประสบภัย 

ตัวอย่างใบปะหน้าการสำรวจผู้ประสบภัยแต่ละคน

ผมพยายามค้นหาข้อมูลย้อนหลังดู พบว่าที่ห้องปฏิบัติการฐานข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ มีข้อมูลผู้ประสบภัยที่ทันสมัยและแทบจะครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ข้อมูลนี้เป็นการสำรวจขององค์การแฮนดิแคป อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับมูลนิธิถนนแห่งสันติภาพ (PRO) องค์การเยสุอิตสงเคราะผู้ลี้ภัย (JRS) และสำนักงานคาทอลิคสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (COERR) ทำการสำรวจข้อมูลผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและการประเมินสถานการณ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และคณะทำงานดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย 



หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 1 ก.ย.2551-28 ก.พ.2552 มีข้อมูลผู้ประสบภัยอย่างละเอียด จำนวนถึง 1,252 คน ในพื้นที่ 22 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ประจวบคิรีขันธ์ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุดรธานี สระแก้ว น่าน จันทบุรี ตราด อุตรดิตถ์ และเลย

ข้อมูลผู้ประสบภัยดังกล่าว มีความสมบูรณ์มาก ขอขอบคุณหน่วยงานดังกล่าวที่ได้จัดทำไว้ โดยเฉพาะองค์การแฮนดิแคป อินเตอร์เนชั่นแนล ถึงแม้ว่าวันนี้ จะไม่ได้ปฏิบัติงานในประเทศไทยแล้วก็ตาม ผมขอขอบคุณด้วยความจริงใจ 

เพื่อน HDO หน่วยใดที่จะเข้าพื้นที่ปฏฺิบัติงาน ลองสอบถามจาก จ.ส.อ.สุรินทร์ ชอบมะรัง (บี) โทร.087-194-5528 ให้ช่วยค้นหาข้อมูลผู้ประสบภัยก่อนได้ เวลาเข้าพื้นที่จะได้มีเป้าหมายและสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ไม่เสียเวลามากนักที่จะไปตระเวนถามจากชาวบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที   

*******************************************
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์ 14 พ.ย.2557

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของอาเซียน ครั้งที่ 1 (1st ADMM-Plus on HMA) :เวียดนาม


ASEAN DEFENCE MINISTER’S MEETING-PLUS (ADMM- Plus):
Agenda : The First ASEAN Defence Ministers' Meeting-Plus Experts' Working Group on Humanitarian Mine Action Meeting : 1st ADMM-Plus on HMA
Hanoi, Vietnam, 18-19  June 2014
: CONCEPT PAPER WORK PLAN (2014-2017)


การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอาเซียน-พลัส :
วาระ : การประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ครั้งที่ 1
เมื่อ 18-19 มิ.ย.2557 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
: แนวทางการทำงาน (พ.ศ.2557-2560)



Introduction
กล่าวนำ

1. Although the wars and conflicts ceased long ago, their consequences continue to negatively affect security, human welfare and economic development in many Southeast Asian countries. Undetonated bombs, mines and other explosive ordnance (collectively referred to as Explosive Remnants of Wars (ERW) constitute a severe problem in these nations. Over the last several decades, there have been tens of thousands of deaths, and hundreds of thousands have been injured or disabled by buried explosives in several ASEAN countries. Bomb and mine contamination has had negative impacts on use of natural resources, agriculture, forestry, and fishery, and impeded the development of the investment environment, the general economy, society and tourism in those countries. 
1. แม้ว่าสงครามและความขัดแย้งจะสงบมานานแล้ว แต่ผลพวงลูกระเบิด, ทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดอื่น ๆ (วัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ERW)) ยังคงมีผลกระทบเชิงลบต่อความปลอดภัยของมนุษย์ และยังขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ และยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศแถบนี้   ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียน มีคนตายนับหมื่นราย คนนับแสนคนได้รับบาดเจ็บ และพิการ  ลูกระเบิดและทุ่นระเบิดที่ยังคงตกค้างปนเปื้อนอยู่มีผลกระทบด้านลบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การเกษตร ป่าไม้ และการประมง รวมทั้งขัดขวางการพัฒนาของสภาพแวดล้อม การลงทุน ด้านเศรษฐกิจสังคม และด้านการท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้


2. With a clear understanding of the problem, ASEAN Member States, Especially those that are highly contaminated with bombs and mines such as Cambodia, Laos, Myanmar, the Philippines, Thailand and Viet Nam, have Made great efforts to establish mine action centers and launch national Programs for the disposal of ERW. These efforts have been strongly Supported by the international community and ASEAN s partners. However, because of the seriousness of contamination, together with ineffective cooperation, small-scale support and investments that are sometimes inappropriate to the actual situation in affected countries. It will take decades to deal with the problem 
2.จากปัญหาที่เห็นอย่างชัดเจน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีการปนเปื้อนอย่างมากกับลูกระบิดและทุ่นระเบิด เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์  ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีความพยายามที่จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ดำเนินการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ERW) ความพยายามเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากประชาคมระหว่างประเทศและพันธมิตรอาเซียน อย่างไรก็ตาม เพราะระดับความรุนแรงของการปนเปื้อน ประกอบกับไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ การสนับสนุนและการลงทุนยังอยู่ในวงจำกัดเล็กๆ ซึ่งบางครั้งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น ซึ่งมันจะใช้เวลาหลายทศวรรษที่จะจัดการกับปัญหาทุ่นระเบิดเหล่านี้ให้หมดไป 

3.Sharing the responsibilities for removing ERW is a humanitarian matter and A topic of mutual concern for our region and the international community. It thus should receive appropriate attention, and be incorporated into a suitable cooperative framework of the ASEAN Defence Ministers’ meeting-Plus (ADMM- Plus). 

3.การแบ่งปันความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ERW) นับเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษยธรรม  และเป็นประเด็นของความกังวลร่วมกันสำหรับภูมิภาคของเราและประชาคมระหว่างประเทศ มันจึงควรได้รับความสนใจพอสมควรและควรจะอยู่ในกรอบความร่วมมือที่เหมาะสมของการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอาเซียนที่ประชุม-พลัส

Purpose and Objective
ความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์


4. Purpose. the establishment of the ADMM- Plus Expert’s Working Group (EWG) on Humanitarian Mine Action (HMA) is aimed to promote practical And effective cooperation between the ASEAN Member States and Plus Countries in dealing with the remnants of war in the region.
4.ความมุ่งหมาย การจัดตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิดและก่อเกิดความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศในภูมิภาคที่ต้องการจัดการกับวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงครามให้หมดไป


5. Objective. the ADMM- Plus EWG on HMA will have the following
5. วัตถุประสงค์ มีดังต่อไปนี้

5.1 To enhance the awareness of threats, challenges and responsibilities of Individual nations and the international community; 

5.1 เพื่อเพิ่มความตระหนักของภัยคุกคาม ความท้าทาย และความรับผิดชอบของแต่ละประเทศ และประชาคมระหว่างประเทศ  

5.2 To leverage capabilities of affected Countries in dealing with ERW;
5.2 ยกระดับขีดความสามารถของประเทศได้รับผลกระทบในการจัดการกับวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ERW) 

5.3 To encourage the ASEAN Member States, Plus Countries and the international community to make common efforts to help the affected Countries;
5.3 เพื่อส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศต่างๆ ร่วมทั้งประชาคมระหว่างประเทศ มีความพยายามร่วมกันที่จะช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ

5.4 To develop cooperative solutions and initiatives to effectively deal with Mine contamination; and
5.4  เพื่อพัฒนาให้เกิดความร่วมมือในการแก้ปัญหาและความคิดริเริ่มที่จะจัดการกับปัญหาการปนเปื้อนของทุ่นระเบิดอย่างมีประสิทธิภาพ และ

5.5 To develop appropriate mechanisms for cooperation amongst the defence forces of the ADMM- Plus countries and for coordination for military and civilian groups in overcoming ERW consequences.
5.5 เพื่อพัฒนากลไกที่เหมาะสมสำหรับความร่วมมือระหว่างกองทัพของแต่ละประเทศในสมาชิกอาเซียน และประเทศที่เข้าร่วม และเพื่อการประสานงานในทางทหารและกลุ่มพลเรือนที่พยายามจะกำจัดวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ERW) ให้หมดสิ้นไป 



Scope of cooperation
ขอบเขตของความร่วมมือ


The scope of cooperation may include:
ขอบเขตของความร่วมมืออาจรวมถึง:
6.1 Host meetings and conferences to share experiences and information, and To enhance mutual understanding on related issues.
6.1 เจ้าภาพที่จัดการพบปะและประชุม ก็มุ่งหวังเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล และเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

6.2 Host conferences to study legal issues and to develop policies and Framework for cooperation in accordance with international law as the Rules of law in each of the affected countries based on respect for their Independence, sovereignty and integrity.
6.2 เจ้าภาพจัดการประชุมต้องศึกษาประเด็นทางกฎหมาย การพัฒนานโยบายและกรอบความร่วมมือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ตามตามกฎหมายของแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบ บนพื้นฐานของความเคารพในความอิสระ ความมีเอกราชอธิปไตย และความซื่อตรง

6.3 Foster exchanges of experts and, of technical and human resource training 
6.3 ให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ และการฝึกอบรมทางด้านเทคนิคและการฝึกอบรมเพื่อมุ่งหวังในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

6.4 Provide needed technologies, equipment and funds for demining
6.4 จัดให้มีเทคโนโลยีที่จำเป็น อุปกรณ์และกองทุนในการเก็บกู้ระเบิด

6.5 Help victims disabled by ERW integrate into society
6.5 ช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม ให้สามารถร่วมอยู่ในสังคมได้

Functions and Responsibilities 
หน้าที่และความรับผิดชอบ

7 Functions. The ADMM-Plus EWG on HMA will have the following: 
7 หน้าที่  ของ  ADMM-Plus EWG ใน HMA จะมีดังต่อไปนี้

7.1 Implement the ADSOM-Plus and ADMM-Plus decision, and provide policy 
7.1 ดำเนินการตามนโยบายและการตัดสินใจ ของ ADSOM-Plus และ ADMM-Plus  

7.2 Discuss and suggest specific solutions, scope and areas of cooperation that are suitable to normal practice and actual conditions of the region, and consistent with the existing of cooperation Framework in ASEAN 
7.2 ประชุมพิตารณาและให้คำแนะนำการแก้ปัญหาเฉพาะทาง ขอบเขตและพื้นที่ความร่วมมือที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานตามปกติและเงื่อนไขที่แท้จริงของภูมิภาคและสอดคล้องกับกรอบความร่วมมือของอาเซียน

8.Responsibilities. The ADMM-Plus EWG on HMA is responsible to: 
8.ความรับผิดชอบของ ADMM-Plus EWG ใน HMA  

8.1 Work out roadmap and plan of action, and follow the roadmap after its Approval; 
8.1 ทำงานตามแผนงานและแผนการปฏฺิบัติการ และเป็นไปตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติแล้ว 
8.2 Provide thorough assessment of activities of the EWG, propose necessary adjustments and additions to higher leaders for approval; 
8.2 จัดให้มีการประเมินผล การปฏิบัติงานของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (EWG)  เพื่อเสนอแนะความจำเป็นในการปรับปรุง รายงานขึ้นไปยังผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป 


8.3 Work closely with Mine Action Centers and Programs on ERW in Contaminated countries to ensure that roadmap contents and procedures for Consultation and policy recommendations fit actual conditions and rules of Law of each country while taking full advantage of and continuing successful Existing mechanisms; and 
8.3 ประสานงานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดในแต่ละประเทศและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ERW)  ในประเทศยังมีการปนเปื้อน เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาแผนงานและวิธีการให้คำปรึกษา คำแนะนำ และนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงและกฎระเบียบของกฎหมายของแต่ละประเทศ ในขณะเดียวกันต้องพยายามใช้ประโยชน์ผลงานที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลไกที่มีอยู่ และ 

8.4 Host meetings and conferences, and prepare reports to higher leaders. 
8.4 เจ้าภาพที่จัดการพบปะและจัดการประชุม และเตรียมการจัดทำรายงานนำเสนอผู้นำระดับสูง 

Assessment and Report 
การประเมินผลและการรายงาน
The ADMM-Plus EWG on HMA will follow the decisions and directions made By the ADSOM-Plus and ADMM-Plus. 
ADMM-Plus EWG ใน HMA  จะดำเนินการตามการตัดสินใจและทิศทาง ซึ่งกำหนดโดย ADSOM-Plus และ ADMM-Plus. 

10. Report and proposals of the EWG will be submitted to higher leaders for approval in the following order: ADSOM-Plus WG, ADSOM-Plus and ADMM-Plus. 
10. รายงานและข้อเสนอแนะของ EWG จะถูกส่งไปยังผู้นำระดับสูงเพื่อพิจารณาอนุมัติตามลำดับดังนี้ : ADSOM WG-Plus, ADSOM-Plus และ ADMM-Plus 

Work Plan 2014-2017
แผนการปฏฺบัติงาน พ.ศ.2557-2560


11. The ADMM-Plus Experts’ Working Group on humanitarian Mine Action (EWG-HMA), co-chaired by Viet Nam and India in the term of 2014-2017, Was adopted by the 7th ADMM (May, 2013) and the 2nd ADMM-Plus (August, 2013)In Brunei Darussalam. In order to effectively promote this area of cooperation, Viet Nam and India, as the co-chairs, map out the Work Plan of EWG-HMA for 2014-2017 as follows: 
11.การประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (EWG-HMA) ในระหว่าง พ.ศ.2557-2560 มอบหมายให้ ประเทศเวียดนามและอินเดีย เป็นประธานร่วม , ซึ่งเป็นมติของการประชุม  ADMM ครั้งที่ 7 (พฤษภาคม 2556) และ การประชุม ADMM-Plus  ครั้งที่ 2 (สิงหาคม 2556) ที่ประเทศบรูไนดารุสซาลาม เพื่อการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงมอบให้อินเดียและุเวียดนามเป็นประธานประชุมร่วมกัน แผนงานต่อไปของ EWG-HMA สำหรับ พ.ศ.2557-2560 มีดังนี้


12. The 1st and 2nd EWG-HMA meetings are scheduled in Viet Nam and India Respectively in 2014. The objectives of the meetings would be to evaluate Real situation of mines and bombs left by wars in the region; to assess the Regional potential challenges and risks as well the capacity of the region In dealing with the consequences of explosive remnants of war; and to identify feasible cooperative areas that fit the interests and conditions of all parties. The point of contact(POC) among ADMM-Plus countries will be also established to identify the agency from each ADMM-Plus country which is in charge of Joining and promoting cooperating in the EWG-HMA. 
12. การประชุมคณะทำงานผู้เชียวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 กำหนดขึ้นในเวียดนามและอินเดีย  วัตถุประสงค์ของการประชุม คือการประเมินสถานการณ์ที่แท้จริงของทุ่นระเบิด และลูกระเบิด ซึ่งเกิดจากสงครามในภูมิภาคนี้ ; การประเมินความท้าทายและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค การจัดการกับผลกระทบของวัตถุระเบิดที่ตกค้างตจากสงคราม การระบุพื้นที่ที่เป็นไปได้สำหรับความร่มมือระหว่างกัน ภายใต้ความสนใจและเงื่อนไขของทุกฝ่าย ช่องทางของของการติดต่อประสานงาน (POC) ระหว่างประเทศใน ADMM-Plus จะได้รับจัดตั้งอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อระบุหน่วยงานที่ชัดเจนของแต่ละประเทศ ซึงอยู่ในความดูแล การเข้าร่วมและส่งเสริมความร่วมมือของคณะทำงานผู้เชียวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (EWG-HMA) 


13. One EWG-HMA meetings or workshop and other practical activities will be held in 2015.  The EWG meeting would consider establishing channels of coordination and mechanisms of cooperation as information sharing, experience exchange, and related legal issues. Other activities of the EWG-HMA may include: (a) organize exhibition on equipment dealing with humanitarian Mine Action (Bomb and Mine Clearance, Detoxication of explosive remnants of war); (b) Conduct short training courses relating this field; (C) organize technical Performances and demonstrations on Surveying and demining with application Of new technologies. 
13.ในการประชุมครั้งหนึ่งๆของณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม  (EWG-HMA)  หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการและการฝึกปฏิบัติการต่างๆ ที่จะจัดขึ้น ใน พ.ศ. 2558. ณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม จะพิจารณาการสร้างช่องทางของการประสานงาน และกลไกของความร่วมมือที่ใช้ข้อมูลร่วมกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมอื่น ๆ ของ EWG-HMA อาจรวมถึง (ก) จัดนิทรรศการเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการทุ่นระเบิด (ลูกระเบิดและกวาดล้างทุ่นระเบิด และการขจัดวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม (ข) ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นที่เกี่ยวข้องกับภาคสนาม (ค) จัดระเบียบทางเทคนิค การแสดงและการสาธิตเกี่ยวกับการสำรวจและเก็บกู้ทุ่นระเบิดพร้อมกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้  


14. The ADMM-Plus shall Consider to organize a combined exercise which could Include participation of EWGs on Humanitarian Mine Action (HMA), Humanitarian Assistance and Disaster Relief (HADR), Peacekeeping Operations (PKO), and Military Medicine (MM) as well as coordination with ASEAN Regional Mine Action Centre (ARMAC) in 2016 Other practical cooperative activities May be conducted. 
14. ADMM-Plus จะพิจารณาการจัดการออรวบรวมกิจกรรมต่างๆ การมีส่วนรวมต่างๆ ของณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HADR)  การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (PKO) และการแพทย์ทหาร (MM) รวมทั้งการประสานงานกับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน (ARMAC) ในปี 2559 รวมทั้งกิจกรรมความร่วมมือในทางปฏิบัติอื่นๆ ที่จะสามารถดำเนินการได้ 


15. The final EWG-HMA shall be held late 2016 or in early 2017 to assess the Overall implementation of the 2014-2017 Work Plan, draw lessons learned, propose specific cooperative programs for the next years and hand over the Co-chairmanship. 
15 สุดท้าย ณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม  (EWG-HMA) จะต้องจัดทำเรื่องราวต่างๆ ให้แล้วเสร็จในปลายปี 2559 หรือไม่เกินในต้นปี 2560  ที่จะประเมินการดำเนินงานในภาพรวมของแผนการปฏิบัติงานในปี พ.ศ.2557-2560  จัดทำบทเรียนที่ได้รับ นำเสนอโครงการความร่วมมือเฉพาะสำหรับปีถัดไป และส่งมอบให้กับประเทศที่จะทำหน้าที่เป็นประธานร่วมต่อไป 

16. The ADMM-Plus countries are encouraged to host regarding cooperation on Humanitarian Mine Action. 
16. ประเทศใน ADMM-Plus ทุกประเทศจะต้องให้ความร่วมมือและให้การสนุสนุนแก่ประเทศที่จะเจ้าภาพในการจัดการเกี่ยวกับการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมต่อไป 
17. In some activities of cooperation, the co–chairs of the EWG-HMA may propose  To invite the related agencies, international organizations and NGOs, other Stakeholders in order to attract and mobilize more resources and effectively Implement cooperation humanitarian action mine. Such proposals Shall be Discussed with in the EWG and proceeded with on the basis of consensus among the EWG members. 
17.ในกิจกรรมบางอย่างของความร่วมมือ ประธานร่วมของณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (EWG-HMA) สามารถเสนอที่จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในการที่จะระดมทรัพยากรมากขึ้นและมีประสิทธิภาพ เพื่อดำเนินการความร่วมมือการดำเนินการการปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นข้อหารือกับในคณะทำงาน และมีการลงฉันทามติร่วมกันในหมู่สมาชิก EWG 

Conclusion
สรุป


18. The Concept & work Plan shall as guidance for HMA cooperation in framework of ADMM-Plus in the period of 2014-2017. The ADMM-Plus EWG on HMA shall work to foster the practical cooperation of the ADMM-Plus in dealing with the remnants of war, contributing to peace, stability and prosperity in the region 
18. แนวคิดและแผนการทำงานที่กล่าวมาใช้เป็นแนวทางความร่วมมือในการปฏฺิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (HMA) ในกรอบของ ADMM-Plus ในระหว่างปี พ.ศ.2557 -2560  ณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการปฎิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (EWG-HMA)  จะต้องทำงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในทางปฏิบัติของ ADMM-Plus เพื่อจัดการกับวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงครามให้หมดไป เพื่อสันติภาพความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้






















***************************************
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์ ผู้แทนประเทศไทย