วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน


ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วย “การห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” หรืออนุสัญญาออตตาวา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2540 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา นับเป็นลำดับที่ 33 ใน 121 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อมาประเทศไทยได้ส่งมอบสัตยาบรรณสารแก่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2541 นับเป็นประเทศที่ 53 ของโลก ส่งผลให้อนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2542 เป็นต้นมา

การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย (Land Impact Survey ใช้คำย่อ LIS) เริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค.2543 โดยศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ (Survey Action Center ใช้คำย่อ SAC) เป็นผู้ปฏิบัติการสำรวจ โดยองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People’s Aid ใช้คำย่อ NPA) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการสำรวจดังกล่าว การสำรวจเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย.2545 ผลการสำรวจพบว่า (ศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ. 2545 : 7) ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด จำนวน 933 แห่ง ชุมชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยทุ่นระเบิดจำนวนทั้งสิ้น 530 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 297 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-พม่า 139 หมู่บ้าน ตามแนวชายแดนไทย-ลาว 90 หมู่บ้าน และตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย 4 หมู่บ้าน รวมขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 2,556.7 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ใน 24 จังหวัด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของราษฎรจำนวน 503,682 คน 


การกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 2,556.7 ตร.กม. ประเทศไทยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี นับแต่อนุสัญญาออตตาวามีผลบังคับใช้ (1 พ.ค.2542) นั่นหมายถึงจะต้องแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2552 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center ใช้คำย่อว่า TMAC) และองค์กรภาคเอกชน/องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ ทั้งในและต่างประเทศ ได้เริ่มดำเนินการกวาดล้างและเก็บกู้ทุ่นระเบิด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา 

คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ. (2556 : 4-5) กล่าวว่า การดำเนินงานของประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏผลการปฏิบัติงานไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประเทศไทยได้แจ้งไว้กับที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา จนนำไปสู่การเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2551 เพื่อขอขยายเวลาปฏิบัติงานจากกำหนดเดิมที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 10 ปี คือ พ.ศ.2552 ขอขยายเวลาออกไปอีก 9 ปีครึ่ง ซึ่งหมายถึงจะต้องเสร็จสิ้นภายใน เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 การขอต่อสัญญาในครั้งนั้น ได้ระบุถึงปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ งบประมาณไม่เพียงพอ 

หลังจากต่อสัญญาดังกล่าวจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2557) ประเทศไทยสามารถปรัดลดพื้นที่ที่ทุ่นระเบิด ทำการส่งมอบและประกาศรับรองเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งคืนให้แก่หน่วยงานและราษฎรใช้ประโยชน์ไปแล้วจำนวน 2,080.60 ตร.กม. คงเหลือพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (Confirmed Hazardous Area ใช้คำย่อ CHA) จำนวน 335 พื้นที่ และพื้นที่อันตรายที่ระบุชัดเจนว่ามีทุ่นระเบิด (Defined Hazardous Area ใช้คำย่อ DHA) จำนวน 11 พื้นที่ รวม 476.10 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ตามภาพที่แสดงไว้ด้านบนและด้านล่าง 


การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งแรกในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย 
การสำรวจโดย NPA เมื่อปี พ.ศ.2545 พื้นที่ที่ได้ทำการสำรวจแล้วมีผลกระทบจากทุ่นระเบิดจะเรียกว่า “พื้นที่อันตราย” (Dangerous Area ใช้คำย่อว่า DA) การปรับลดพื้นที่ DA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในช่วงแรกนี้ ประเทศไทยใช้วิธีกวาดล้างพื้นที่ (Clearance) 100% ซึ่งวิธีการกวาดล้างนี้ ใช้เวลานาน การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้าและสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก การกวาดล้างพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2549 สามารถปรับลดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้เพียง 19.9 ตร.กม. ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ DA ที่เหลืออยู่ทั้งหมดจำนวน 2,536.8 ตร.กม. 


จนกระทั่งในปี พ.ศ.2550 ก่อนที่จะหมดสัญญา 2 ปี ประเทศไทยโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้นำวิธีการที่เรียกว่า “การกำหนดที่ตั้งสนามทุ่นระเบิด” (Locating Minefield Procedure ใช้คำย่อว่า LMP) เพื่อค้นหาพื้นที่ทุ่นระเบิดที่มีอยู่จริง เพราะพื้นที่ DA ที่สำรวจไว้ในสมัยปี พ.ศ.2545 นั้น หลังจากปฏิบัติงานกวาดล้างไปได้ระยะหนึ่งแล้ว พบว่าพื้นที่ DA บางพื้นที่ไม่พบทุ่นระเบิดใดๆ จึงเป็นไปได้ว่าควรจะทำการสำรวจและค้นหาพื้นที่อันตรายที่แท้จริงเสียใหม่ เพราะพื้นที่ DA ที่สำรวจโดย NPA ในครั้งนั้น เป็นแค่เป็นพื้นที่กว้างๆ ที่เปรียบเสมือนแค่ “พื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระบิด” (Suspect Hazardous Area ใช้คำย่อว่า SHA) เท่านั้น 

ในระหว่าง ปี พ.ศ.2550-2552 หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1-4 (นปท.) ต่างได้รับมอบภารกิจจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ให้ใช้กระบวนการ LMP เพื่อสำรวจและปรับลดพื้นที่จาก DA ให้เหลือเป็น “พื้นที่สนามทุ่นระเบิด” (Mine Field ใช้คำย่อว่า MF) ที่แท้จริงภายใต้งบประมาณจำนวนกว่า 270 ล้านบาท ตลอด 3 ปี ในช่วงรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อเนื่องถึงรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี 

และในช่วงปีเดียวกันนี้ ทางมูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาแบบยั่งยืน (Mekong Organization for Mankind ใช้คำย่อว่า MOM) ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจาก JAPAN-ASEAN Integration Fund (ใช้คำย่อว่า JAIF) จำนวน US$ 1,282,070 เพื่อช่วยปรับลดพื้นที่ DA ในประเทศไทยและค้นหาพื้นที่ MF อีกด้วย ภายใต้ชื่อโครงการ “การสำรวจเพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดแบบบูรณาการ” (The Integrated Area Reduction Survey Project (IARS) at Border Area with Cambodia) โดยมีหลักการเดียวกันกับกระบวนการ LMP 

การปรับลดพื้นที่ด้วยกระบวนการ LMP และ IARS สามารถปรับลดจากพื้นที่ DA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและส่งมอบให้แก่หน่วยงานและราษฎรใช้ประโยชน์ได้ถึง 1,986 ตร.กม.เศษ และเมื่อสิ้นสุดโครงการ ในปี พ.ศ.2553 คงเหลือพื้นที่ที่เป็น MF จำนวนทั้งสิ้น 551.2 ตร.กม. เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการปฏิบัติงานด้านการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทย 

การปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดด้วยวิธีการปลดปล่อยพื้นที่ (Land Release)

หลังจากได้พื้นที่ MF เมื่อปี พ.ศ.2553 แล้ว ประเทศไทยยังคงใช้วิธีการกวาดล้าง 100% เพื่อปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยตามเดิม จนกระทั่งกลางปี พ.ศ.2555 ประเทศไทยโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้นำวิธีการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดด้วยวิธีการปลดปล่อยพื้นที่ (Land Release ใช้คำย่อว่า LR) เข้ามาใช้แทนวิธีการกวาดล้าง (Clearance) พื้นที่ MF ได้ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “พื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด” (Confirmed Hazardous Area ใช้คำย่อว่า CHA) และวิธีการปรับลดพื้นที่ CHA ด้วยวิธีการ Land Release นี้ ได้ใช้ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน 



ในปีงบประมาณ 2555 สามารถปรับลดพื้นที่ CHA ด้วยวิธีการ Land release ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จำนวน 16.22 ตร.กม. เนื่องจากเป็นปีแรกที่ใช้ จึงเกิดการทดลองนำร่องในบางพื้นที่และ นปท.ต่างๆ ยังขาดความเข้าใจในขั้นตอนและกระบวนการ ต่อมาในปีงบประมาณ 2556 สามารถปรับลดพื้นที่ CHA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จำนวนถึง 36.36 ตร.กม. ส่วนในปีงบประมาณ 2557 กลับปรับลดพื้นที่ได้เพียง 26.62 ตร.กม. ซึ่งมีปริมาณลดลงจากปีงบประมาณ 2556 เนื่องจากพื้นที่ CHA มีความยากในการทำงานมากขึ้น บางพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน ห่างไกล การเดินทางเข้าถึงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก 

การสำรวจของ APOPO-PRO 
ในปี พ.ศ.2554-2555 องค์กร APOPO (Anti Persoonsmijnen Ontmijnende ProductOntwikkeling) จากประเทศเบลเยี่ยม ร่วมกับมูลนิธิถนนเพื่อสันติภาพ (Peace Road Organization ใช้คำย่อว่า PRO ) ได้ทำการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดใหม่ในพื้นที่ จ.ตราด จำนวน 72 ตร.กม. ภาพใต้ชื่อโครงการ “การสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical” ภายใต้การทำงานร่วมกับ นปท.2/นปท.ทร. 

ผลจากการสำรวจฯ (APOPO-PRO : 2012) พบว่าประมาณ 52% ของพื้นที่ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่ยืนยันว่ามีอันตรายจากทุ่นระเบิด ( CHA) ในปัจจุบัน มีหลักฐานว่ามีทุ่นระเบิดจริงหรือมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีทุ่นระเบิดอยู่ในพื้นที่ ขณะที่อีกราว 32% ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับทุ่นระเบิดและเป็นเพียงข้อสงสัยของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ พื้นที่ 7% ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จึงกำหนดเป็นพื้นที่ประเภทจำกัดการใช้งาน (AWR) ขณะที่พื้นที่อีก 9% ทาง APOPO-PRO มีความเห็นว่าควรทำการยกเลิกหรือถอดถอนสถานะจากพื้นที่ทุ่นระเบิด ตามข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนในพื้นที่ ดังภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง 


APOPO-PRO (2012). ยังกล่าวต่อว่า “จากผลเชิงสถิติของพื้นที่ จ. ตราดนี้ แสดงให้เห็นว่าหากมีการนำวิธีการสำรวจด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ทางเทคนิค ( NTS) ที่ถูกต้องไปใช้ทั่วประเทศแล้ว พื้นที่ที่ต้องการการกวาดล้างจริงๆ ในประเทศไทยน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ที่ยืนยันว่ามีอันตรายจากทุ่นระเบิด (CHA) ในระบบฐานข้อมูลปัจจุบัน” 

ผลการสำรวจพื้นที่ จ.ตราด ตามโครงการสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical ของ APOPO-PRO นี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดการปรับลดพื้นที่ใดๆ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเลย เนื่องจากการสำรวจของ APOPO-PRO ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของขอบเขตพื้นที่ที่เป็น MF หรือ CHA แต่อยู่บนพื้นฐานของพื้นที่ในขอบเขตของตำบล จึงไม่สามารถนำไปปรับลดในฐานข้อมูลพื้นที่ทุ่นระเบิดของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติได้ จากการสืบค้นพบว่า แนวความคิดการสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical นี้เป็นของ Mr. Håvard Bach ซึ่งขณะนั้นสังกัดองค์กร APOPO โดยมี Mr.Andrew Sully เป็น Programme Manager ภายใต้ชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการสำรวจข้อมูลและปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิด” 

ต่อมาในปี พ.ศ.2556-2557 APOPO-PRO ภายใต้การนำของ Mrs.Kim Warren Programme Manager ภายใต้ชื่อโครงการเดียวกัน ได้เปลี่ยนวิธีการสำรวจแบบ NTS จากพื้นฐานพื้นที่ในขอบเขตของตำบลเป็นพื้นฐานพื้นที่ตามขอบเขตของพื้นที่ CHA ในเขต อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ และ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี จากวิธีการสำรวจใหม่นี้ APOPO-PRO จึงมีผลงานในการปลดปล่อยพื้นที่ CHA ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จำนวนหนึ่ง โดยการปลดปล่อยพื้นที่ด้วยวิธีการสำรวจที่ไม่ใช่ทางเทคนิค (Land Release by NTS) ซึ่งเป็นไปตามกระบวนปรับลดพื้นที่ด้วยวิธีการ Land Release 

ขั้นตอนและกระบวนการการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 
ขั้นตอนและกระบวนการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สามารถสรุปเป็นแผ่นภาพได้ดังนี้ 





จากภาพด้านบนแสดงให้เห็นขั้นตอน และกระบวนการตั้งแต่การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิด (Landmine Impact Survey : LIS) จนกระทั่งกลายเป็นพื้นที่ CHA ในปัจจุบัน เอกสารหรือรายงานต่างๆ มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ซึ่งแต่ละเอกสาร/รายงานต่างๆ พอสรุปเนื้อหาที่ได้ทำรายงานไว้ดังนี้ 
  1. แบบสำรวจระดับ 1 (ส.ร.1) เป็นรายงานที่เป็นผลจาก LIS ใช้ประกอบกับพื้นที่ DA มีรายละเอียดดังนี้ 
    1. แผ่นสรุป
    2. ส่วนข้อมูลสำรวจระดับที่หนึ่ง ประกอบด้วย ประวัติการต่อสู้ด้วยอาวุธในพื้นที่หมู่บ้านการปฏิบัติการด้านทุ่นระเบิด ผลกระทบจากทุ่นระเบิด จำนวนผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และ UXO ข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้าน ระดับความรุนแรงของพื้นที่ต้องสงสัย ข้อมูลเพิ่มเติม 
    3. ส่วนข้อมูลหมู่บ้าน ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป สิ่งอำนวยความสะดวกในหมู่บ้าน 
    4. ความเห็นหลังทำแบบสรุปผลการเยี่ยมหมู่บ้าน ได้แก่ ความเห็นของเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล, บรรณาธิการภาคสนาม และหัวหน้าภาคสนาม 
    5. แบบสอบถามผู้ประสบภัย ประกอบด้วย รายละเอียดต่างๆ รายชื่อผู้ประสบภัย จำนวนผู้ประสบภัย ภายใน 24 เดือน จำนวนผู้ประสบภัย มากกว่า 24 เดือน 
    6. รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม 
    7. แบบสำรวจผลกระทบ รายละเอียดบริเวณพื้นที่ที่สงสัยว่ามีทุ่นระเบิด วัตถุระเบิดผลกระทบจากทุ่นระเบิด พื้นที่เคยทำอะไรมาก่อน แผนพัฒนา กรรมสิทธิ์ที่ดินอื่นๆ การตรวจสอบข้อมูลจากการสัมภาษณ์และสังเกต รายละเอียดเพิ่มเติม 
    8. แบบสำรวจสัณฐานของพื้นที่ที่มีระเบิด ประกอบด้วย ชื่อสถานที่ ลักษณะพื้นที่ ขนาดพื้นที่ จุดสังเกต/จุดถ่ายภาพ ลักษณะภูมิประเทศ การกวาดล้างทุ่นระเบิด การทำเครื่องหมาย แผนที่ภาพร่างพื้นที่ที่ต้องสงสัย 
    9. แนบบันทึกข้อมูลพื้นที่ทุ่นระเบิดร่วม 
    10. ภาพร่างแผนที่ 
  2. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิคระดับ 2 (ส.ร.2) ใช้สำรวจอีกครั้งต่อจาก ส.ร.1 ก่อนที่จะทำการกวาดล้าง มีรายละเอียดดังนี้ 
    1. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิค ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ค่าพิกัดของหมุดหลักฐาน/จุดอ้างอิง 
    2. รายงานพื้นที่ทุ่นระเบิด ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ทุ่นระเบิดจุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดและเส้นรอบรูป รายละเอียดพิกัดแสดงเส้นรอบรูปของพื้นที่ ขนาดของพื้นที่ เครื่องหมายเตือน ประมาณการชนิดทุ่นระเบิดและ UXO ที่คาดว่าจะพบ การจำแนกข้อมูล การเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิด และ UXO ข้อเสนอแนะ ผลกระทบด้านเกษตรกรรม ผลกระทบด้านแหล่งน้ำ ผลกระทบด้านพื้นที่ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม ผลกระทบด้านสิ่งก่อสร้าง/สิ่งอำนวยความสะดวกหลัก คำแนะนำด้านการอบรมให้ความรู้รายละเอียดเพิ่มเติม และความคิดเห็น
    3. เอกสารแนบ ประกอบด้วย แผนที่ภาพร่าง ภาพถ่าย ฯลฯ
  3. Completion Report (ส.ร.3) ใช้ประกอบเพื่อปรับลดพื้นที่จากการกวาดล้าง ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป พิกัดหมุดหลักฐาน/จุดอ้างอิง รายละเอียดของพิกัดแสดงเส้นรอบรูปของพื้นที่ จำนวนและชนิดทุ่นระเบิด/UXO ที่ถูกทำลายแล้ว จำนวนและชนิดทุ่นระเบิด/UXO ที่มีการทำเครื่องหมาย แผนที่ภาพร่าง รับรองการรายงานข้อมูล 
  4. รายงานผลการสำรวจซ้ำเพื่อจำแนกพื้นที่ (ส.ร.1.1) ใช้จำแนกพื้นที่ตอน LMP/IARS ว่าพื้นที่ใดปรับลดได้หรือไม่ได้ ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป พิกัดหมุดหลักฐาน/จุดอ้างอิง การดำเนินการสำรวจ การจำแนกพื้นที่ 
  5. รายงานการดำเนินการปรับลดพื้นที่ (ปพ.1) ใช้ในการปรับลดพื้นที่ตอนทำ LMP/IARS ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีรายละเอียดดังนี้
    1. การดำเนินการปรับลดกระทำโดยเก็บข้อมูลและการสุ่มตรวจ ประกอบด้วย การเก็บข้อมูล การจำแนกพื้นที่
    2. การสุ่มตรวจ ประกอบด้วย ผลการสุ่ม 
    3. เอกสารแนบ ประกอบด้วย รายชื่อราษฎรและผู้เข้าร่วมการประชุม
    4. ความเห็นของเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล หัวหน้าหน่วยตรวจค้นทุ่นระเบิด และผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม 
  6. รายงานผลการสำรวจขั้นเทคนิค(ขั้นที่ 2) ปรับลด (ส.ร.2.1) ประกอบด้วย พิกัดเส้นรอบรูปพื้นที่ปรับลด และแผนที่ภาพร่าง 
  7. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิคระดับ 2 (ส.ร.2) ใหม่ ใช้ประกอบ MF มีรายละเอียด ดังนี้
    1. รายงานผลการสำรวจทางด้านเทคนิค(Survey Level 2) ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป และพิกัดของจุดสำรวจ 
    2. รายงานพื้นที่ทุ่นระเบิด (MF) ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ทุ่นระเบิด จุดอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทุ่นระเบิดและเส้นรอบรูป รายละเอียดพิกัดแสดงเส้นรอบรูปของพื้นที่ ขนาดของพื้นที่ เครื่องหมายเตือน ประมาณการชนิดทุ่นระเบิด การเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิด และ UXO ผลกระทบด้านเกษตรกรรม ผลกระทบด้านแหล่งน้ำ ผลกระทบด้านพื้นที่ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม ผลกระทบด้านสิ่งก่อสร้าง/สิ่งอำนวยความสะดวกหลัก คำแนะนำด้านการอบรมให้ความรู้ รายละเอียดเพิ่มเติม และความคิดเห็น 
    3. เอกสารแนบ ประกอบด้วย แผนที่ ภาพร่าง ภาพถ่าย ฯลฯ 






หลังจากวิธีการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ด้วยวิธีการ Land Release ถูกนำเข้ามาใช้ในกลางปี พ.ศ.2555 เอกสารและรายงานต่างๆ ได้เปลี่ยนไปตามภาพด้านบน ที่สำคัญได้แก่ NTS report, TS report, DHA report, Release Area report และ Completion report และในเวลาต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ.2556 ต่อต้นปี พ.ศ.2557 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ได้ทำการวิจัยเรื่องการประเมินผลกระทบจากพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดที่เหลืออยู่ในประเทศไทยเสียใหม่เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและจัดลำดับความเร่งด่วนในการปฏิบัติงาน จึงได้มีการสำรวจพื้นที่ CHA ใหม่อีกครั้งโดยใช้แบบฟอร์มการสำรวจผลกระทบ พ.ศ.2557 (Impact Assessment 2014 : IA2014) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  1. ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ CHA ประกอบด้วย ชื่อพื้นที่ ขนาดพื้นที่ สถานที่ตั้ง ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ การจำแนกพื้นที่ CHA การใช้พื้นที่ในปัจจุบัน การเดินทางเข้าสู่พื้นที่ ยานพาหนะที่สามารถเข้าสู่พื้นที่ ระดับความยากง่ายในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ มีป้ายแจ้งเตือนหรือไม่ ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ ความลาดชันของพื้นที่ ลักษณะของป่าที่ปกคลุม ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ พื้นที่ CHA มีปัญหาอุปสรรคเรื่องใดบ้างข้อมูลผลการสำรวจเดิม
  2. ข้อมูลด้านการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ประกอบด้วย ประโยชน์ที่ได้รับหากสามารถปลดปล่อยได้ หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ลักษณะผลกระทบ จำนวนราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เคยมีการแจ้งทางราชการให้เก็บกู้ทุ่นระเบิดหรือไม่ สาเหตุที่หน่วยราชการไม่เก็บกู้ พื้นที่ CHA กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อะไรบ้าง พื้นที่ CHA มีแผนการพัฒนาอะไรบ้าง 
  3. ข้อมูลด้านผู้ประสบภัย ประกอบด้วย จำนวนครั้งที่ประสบภัยในรอบ 5 ปี จำนวนผู้บาดเจ็บ อุบัติเหตุครั้งล่าสุด กิจกรรมที่เป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านมา ผู้ประสบภัยเป็นใคร ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ หน่วยงานใดที่เข้ามาช่วยเหลือ 
  4. ข้อมูลด้านทุ่นระเบิด/UXO ประกอบด้วย มีหลักฐานของทุ่นระเบิด/UXO หรือไม่ หลักฐานที่คิดว่ามีทุ่นระเบิด/UXO ประมาณการทุ่นระเบิด/UXO ที่คาดว่าจะพบ มีการเคลื่อนย้ายทุ่นระเบิด/UXO โดยราษฎรหรือไม่ ทุ่นระเบิด/UXO ที่ถูกเคลื่อนย้ายทำไมต้องเคลื่อนย้าย 
  5. รายชื่อผู้ให้ข้อมูล 
  6. การประเมินผลด้านต่างๆ 
  7. ความเห็นเพิ่มเติม 
  8. เอกสารแนบ 
  9. การประมาณการระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 
จากที่กล่าวมาจะพอสรุปได้ว่าพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทย เริ่มแรกที่เรียกว่าพื้นที่ DA ได้ผ่านขั้นตอนการดำเนินการและการสำรวจใหม่จำนวนหลายครั้ง ทั้งการกวาดล้าง การ LMP การ IARS กว่าจะมาเป็น พื้นที่ MF และเปลี่ยนชื่อมาเป็นพื้นที่ CHA ที่ใช้ในปัจจุบัน และนอกจากนั้นใน ปี พ.ศ.2557 ก็ยังมีการสำรวจใหม่อีกครั้งภายใต้โครงการวิจัยฯ ที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งในการปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18-20 ส.ค.2557 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ได้เชิญ Mr. Håvard Bach CTA, Operational Methods ขององค์กร NPA มาบรรยายเรื่องการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธี Land Release ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ Mr. Håvard Bach ได้เสนอแนวความคิดใหม่ในเรื่องการปรับลดพื้นที่ทุ่นระเบิดในประเทศไทย โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทยในขณะนี้ กลับไปเป็นพื้นที่ที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (SHA) แล้วดำเนินการสำรวจขั้นพื้นฐานใหม่ ด้วยวิธีการ Base Line Survey (BLS) พื้นที่ใดที่ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับทุ่นระเบิดจะสามารถยกเลิกพื้นที่ (Cancel) ได้เลย ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้จะมีจำนวนมาก และต่อเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่ามีทุ่นระเบิดแล้วจึงค่อยปรับเปลี่ยนสถานะเป็นพื้นที่ CHA แล้วปรับลดพื้นที่ด้วยวิธีการ Land Release ตามเดิม 

หลังจากนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ จึงได้นำแนวความคิดใหม่นี้ไปหารือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับสากล ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนให้การสนับสนุนแนวความคิดใหม่นี้ และคาดว่าหากใช้วิธีการนี้แล้ว ประเทศไทยจะสามารถปรับลดพื้นที่อันตรายจากทุ่นระเบิดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้มากกว่าในปัจจุบัน และสิ่งสำคัญก็คือ ประเทศไทยจะถูกมองว่ามีความพยายาม และกระตือรือร้น ที่จะปฏิบัติตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดที่ได้ลงนามไว้อย่างเต็มความสามารถ 

ต่อมา พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ในขณะนั้น ได้อนุมัติตามข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2557 ท้ายหนังสือ ฝยก.ศบท. ที่ กห 0318.4/680 ลงวันที่ 22 ก.ย.2557 เรื่อง ขออนุมัติแนวทางปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุภารกิจตามอนุสัญญาออตตาวา ดังนี้ 

  1. ให้ ศทช.ศบท.ดำเนินการปรับพื้นที่ CHA เดิมให้เป็นพื้นที่ SHA และดำเนินการจัดทำ BLS ในพื้นที่ทั้งหมด โดยหากในพื้นที่ใดผ่านเกณฑ์การ Cancel เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้ดำเนินการตามแนวทาง LR สำหรับพื้นที่ใดได้รับการยืนยันว่าเป็นพื้นที่ CHA คือได้ตรวจพบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลด้วยวิธีการ TS แล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการกำหนดเขต (Buffer) ตามขั้นตอนของ LR และกวาดล้าง (Clearance) ต่อไป 
  2. ให้ ศทช.ศบท.ปรับกำลังพลของ นปท. ที่ดำเนินการในพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วไปปฏิบัติงานสมทบกับ นปท.ในพื้นที่ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ 
  3. ให้ ศทช.ศบท.จัดชุดปฏิบัติงานจากองค์กรเอกชนเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่เคยปฏิบัติงานในไทย และยุติการปฏิบัติงานไปเนื่องจากขาดงบประมาณ กลับมาดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ ศทช.ศบท.หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอที่จะดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้เสร็จสิ้นทันระยะเวลาที่ประเทศไทยได้รับการขยายถึง พ.ย.2561 
การปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่นี้ สามารถเขียนแผนภูมิได้ตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง 




การเตรียมการเพื่อปรับเปลี่ยน
เพื่อให้การปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่นี้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง มีความรอบคอบและรัดกุม ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) จึงได้มอบหมายให้ NPA และ นปท.4 ร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อเป็นการนำร่องในพื้นที่ CHA 713-01 บ.หนองหลวง ต.หนองหลวง อ.อุ้มผาง จ.ตาก ขนาดพื้นที่ 4,441,153 ตร.ม. และให้มานำเสนอวิธีการให้ นปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ทราบที่ประชุมเชิงปฏิบัติการตามที่วางแผนไว้จำนวน 2 ครั้ง ในเดือน ธ.ค.2557 และ ม.ค.2558 ตามภาพด้านล่าง 





หลังจากที่ นปท.4 และ NPA นำร่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในเดือน ก.พ.2558 ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) จะจัดให้มีการระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมกันจัดทำกระบวนการขั้นตอนการสำรวจขั้นพื้นฐาน (BLS) และออกแบบการรายงานต่างๆ รวมทั้งจะจัดให้มีการบรรยายให้ความรู้จากหน่วยงานหรือองค์กรในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งแนวทางการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่นี้มีความสมบูรณ์ ต่อจากนั้น นปท.ทุก นปท.รวมทั้ง NGO ที่ปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย (HDO In Thailand) ทั้งหมดจะเริ่มปฏิบัติพร้อมกัน ตามแนวคิดใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.2558 เป็นต้นไป 

ข้อพิจารณาเพื่อประกอบการวางแผนการปฏิบัติงานตามแนวทางการปรับลดพื้นที่ใหม่
จากการตรวจสอบอย่างละเอียดจากฐานข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) พื้นที่ CHA ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจำนวน 476,100,275 ตร.ม. นั้น สามารถแบ่งตามกระบวนการที่ถูกกระทำต่อพื้นที่ได้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ (ดูภาพด้านล่างประกอบ) 
  1. พื้นที่ CHA ที่ไม่ได้ถูกกระบวนการใดๆ กระทำเลย ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากขนาดของพื้นที่อันตราย คือ ขนาดพื้นที่ DA = ขนาดพื้นที่ MF = ขนาดพื้นที่ CHA ในปัจจุบันพื้นที่ CHA ลักษณะนี้มีจำนวน 43 พื้นที่ ครอบคลุม 13 จังหวัด รวมพื้นที่ 101,788,824 ตร.ม. (รายละเอียดแสดงไว้ตามผนวกแนบท้าย) ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ SHA ได้ในทันที
  2. พื้นที่ CHA ที่ถูกกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งกระทำแล้ว ได้แก่ การกวาดล้าง การปรับลดด้วย LMP หรือ IARS หรือการปรับลดพื้นที่ด้วยวิธีการ Land Release พื้นที่ CHA ลักษณะนี้มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 374,311,451 ตร.ม. พื้นที่เหล่านี้อาจก่อให้เกิดความสับสนต่อการปฏิบัติงานการปรับลดพื้นที่ตามแนวทางใหม่ได้ 



หากหน่วยต่างๆ ที่ปฏิบัติงานด้านทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย จะเริ่มดำเนินงานการปรับลดพื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิด (CHA) ตามแนวคิดใหม่ในเดือน มี.ค.2558 แล้ว หน่วยควรเลือกวางแผนปฏิบัติงานในพื้นที่ CHA ที่ไม่ได้ถูกกระบวนการใดๆ กระทำเลย ตามข้อ 1 ซึ่งจะสามารถมองเห็นแนวทางการปฏิบัติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แล้วจึงค่อยขยายผลต่อไปยัง พื้นที่ CHA ที่ถูกกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งกระทำแล้ว

ผนวกแนบท้าย : พื้นที่ CHA ที่ไม่ได้ถูกกระบวนการใดๆ กระทำ (DA=MF=CHA)

******************************** 

เขียนโดย พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ 
โทร.02-929-2112,081-434-8777 โทรสาร.02-929-2002 
FB : www.facebook.com/COED.TMAC 
อีเมล์ : Coedtmac2014@gmail.com

อ้างอิง

  • คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ. (2556). รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องความคืบหน้า การดำเนินงานเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณพื้นที่แนวชายแดน และการปฏิบัติตามพันธกรณี ในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอนและทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา). กรุงเทพฯ :สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 
  • ศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ และองค์การเพื่อความช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์. (2545). การสำรวจผลกระทบจากทุ่นระเบิดในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. (2556). มาตรฐานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • ส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล. (2556). รายงานผลงานของส่วนประสานการปฏิบัติและ ประเมินผล ประจำปีงบประมาณ 2556. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • ส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผล. (2557). รายงานผลงานของส่วนประสานการปฏิบัติและ ประเมินผล ประจำปีงบประมาณ 2557. กรุงเทพฯ : ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ. 
  • APOPO-PRO. (2012). รายงานสรุปการสำรวจพื้นที่จังหวัดตราด โครงการสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจแบบ Non-Technical. กรุงเทพฯ : APOPO-PRO.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น