วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ผมอึดอัด ขอเขียนอีกครั้งครับ

ผมเคยปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 และถูกปรับย้ายออกในสมัยผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่งเมื่อ 31 มี.ค.2559 เหตุเพราะขัดแย้งเรื่องนโยบายที่สำคัญ วันนี้..ผู้บังคับบัญชาฯ ท่านนั้นย้ายไปแล้ว แต่ผมยังคงถูกรับเชิญให้เดินสายเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของทุ่นระเบิดในประเทศไทยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ฟังทั่วประเทศ เพื่อความเข้าใจและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

เรื่องราวเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมอึดอัด มันยังรบกวนจิตใจของผมอยู่ เรื่องราวเหล่านี้ผมเคยนำเสนอให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องฟังมาโดยตลอด หลายยุคหลายสมัย แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด นั้นคือเรื่องราวของ "ระยะเวลาในอนุสัญญาออตตาวา ที่ประเทศไทยจะสิ้นสุดตามที่ให้สัญญาไว้ในวันที่ 1 พ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเหลืออีกเพียง 2 ปี" ผมอยากให้ผู้ที่มีอำนาจ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันรับรู้และตัดสินใจในเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติ ผมจึงขอเขียนบทความเรื่องนี้อีกครั้ง เผื่อจะสื่อไปถึงท่านเหล่านั้นได้บ้าง

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เกิดอาเพศใดฤา ปีนี้..ผู้ประสบภัยทุ่นระบิดจึงมากเหลือเกิน

นับแต่ต้นปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ (10 มิ.ย.2559) ยังไม่ถึงครึ่งปี มีผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิดแล้วจำนวน 8 คน เสียชีวิต 2 คน ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วมีเพียง 7 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต  

รายละเอียดพอจะสรุปได้ดังนี้  
  • 17 ก.พ.2559 เวลา 06:00 น. คนงานชาวเมียนมาเสียชีวิต 2 คน จากสาเหตุของทุ่นระเบิด บริเวณเชิงเขาบรรทัด บ.สะพานหิน ม.5 ต.แหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด 
  • 1 พ.ค.2559 เวลา 09:30 น. นายสว่าง คำสุขดี อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58 ม.8 และนายธงชัย เผดิมเผ่าพันธุ์ อยู่บ้านเลขที่ 160 ม.2 ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว -ขณะไปหาของป่าทั้งสองเกิดเหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN ในบริเวณพื้นที่ บ.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายสว่างฯ ข้อเทาซ้ายขาด ส่วนนายธงชัยฯ บริเวณใบหน้า 
  • 2 มิ.ย.2559 เวลา 14:20 น. เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 1 ได้ถูกระเบิดจำนวน 2 นายขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ บริเวณตรงข้าม จต.ต.06 บ.ทัพเสรี ม.12 ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว 
  • 3 มิ.ย.2559 เวลา 16:00 น. นางหลา โกสา อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 109 ม.17 บ.ทุ่งสมเด็จ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เหยียบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN ขาข้างขวาขาด 
  • 10 มิ.ย.2559 เวลา 11:30 น. นายหงส์ สายยศ อายุ 49 ปี บ้านเลขที่ 16 ม.9 บ.ร่มไทร ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เข้าไปเก็บผักเกิดเหยีบทุ่นระเบิด ได้รับบาดเจ็บขาขวาขาดใต้หัวเข่า
ที่มาของเรื่องนี้ก็คือ ประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาฉบับหนึ่งกับประชาคมโลกที่ชื่อว่า อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) โดยพันธสัญญาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ประเทศไทยต้องค้นหา เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดตกค้างจากการสู้รบในอดีตที่ผ่านมา ที่มันยังคงฝังอยู่ใต้พื้นแผ่นดินไทยให้แล้วเสร็จก่อน พ.ศ.2552 แต่จนแล้วจนรอดประเทศไทยทำไม่สำเร็จ จึงบากหน้าขอต่อสัญญาออกไปอีกครั้ง และให้สัญญาใหม่ว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2561  

หากประเทศไทยกู้ทุ่นระเบิดแล้วเสร็จตามสัญญาตั้งแต่แรก 
คงไม่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดให้เห็นจนทุกวันนี้ 



ใครควรรับผิดชอบ
หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา ก็คือ "ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ" ทำงานภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (National Mine Action Committee : NMAC) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยตำแหน่ง

แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุขึ้น ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ จากรัฐบาลเลย  ยิ่งเป็นสามัญชนคนธรรมดาด้วยแล้ว คงมีแต่เงินช่วยเหลือตามกฏหมายภัยพิบัติอื่นๆ เหมือนคนทั่วๆ ไป และหากต้องกลายเป็นคนพิการก็ได้รับสิทธิเหมือนคนพิการทั่วๆ ไปเช่นกัน ไม่มีอะไรเป็นพิเศษจากรัฐบาลหรือกฏหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิดเลย  

ความรับผิดชอบทั้งหมดควรอยู่ที่รัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ใส่ใจที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดสิ้น ขาดความตระหนักที่จะทุ่มทรัพยากรเพื่อเก็บกู้ทุ่นระเบิดเหล่านี้ให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร และเพื่อเป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาคมโลก 

ทางด้านศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานด้านนี้เป็นหลัก ก็ขาดการใส่ใจ ทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุการเหยียบทุ่นระเบิดขึ้นในประเทศไทย  ต้องจัดตั้งคณะกรรมการออกไปสอบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามมาตราฐานการปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (NMAS) เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป แต่กลับละเลย พยายามปกปิดเรื่องราวข่าวคราวไม่ให้รุกรามใหญ่โต เพราะกลัวจะเป็นความบกพร่องของหน่วยงานตนเอง

การสอบสวนข้อเท็จจริง
การสอบสวนข้อเท็จจริงของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีความจำเป็น  เช่น
  1. เพื่อพิสูจน์ว่าจุดที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ทุ่นระเบิดที่เคยสำรวจและบันทึกไว้แล้วหรือไม่ (แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ) หากอยู่ควรต้องรีบเร่งดำเนินการ  รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงการจัดทำขอบเขตของพื้นที่และติดป้ายแจ้งเตือนอันตรายใหม่ให้ชัดเจน 
  2. หากจุดที่เกิดเหตุเป็นจุดที่เกิดขึ้นใหม่ ต้องรีบดำเนินการสำรวจขอบเขตพื้นที่อันตรายและติดตั้งป้ายแจ้งเตือนใหม่ทันที เพื่อไม่ให้ราษฎรเข้าไปใช้พื้นที่
  3. หากจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่เคยปฏิบัติงานและส่งมอบคืนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ต้องรีบประกาศขอคืนพื้นที่ให้เป็นพื้นที่อันตรายที่มีทุ่นระเบิดเช่นเดิม และรีบเข้าดำเนินการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดซ้ำในทันที
  4. หาทางช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิดให้ได้รับสิทธิต่างๆ ตามที่กฏหมายพึงมีให้
  5. ฯลฯ


Mine Risk Education 
สาเหตุที่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดจำนวนมากในปีนี้ คงไม่น่าใช่อาเพศใดๆ แต่น่าจะเป็นความไม่ค่อยใส่ใจของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรม "ด้านการแจ้งเตือนและให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากทุ่นระเบิด"  (Mine Risk Education : MRE)  มากกว่า กิจกรรมนี้ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นราษฎรที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง พื้นที่อันตรายที่มีทุ่นระเบิดต้องจัดทำขอบเขตและติดตั้งป้ายแจ้งเตือนให้ชัดเจน 


กิจกรรม MRE นี้ เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้ราษฎรต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากทุ่นระเบิด ส่วนการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดเป็นเรื่องของหน่วยงานหรือองค์กรที่ต้องได้รับการฝึกฝนและมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงไม่น่าเป็นห่วงอันใด

ขอภาวนาและหวังว่าใน 6 เดือนหลังนี้ จะไม่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเกิดขึ้นอีก และหวังว่ารัฐบาลต้องดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทยภายในปี พ.ศ.2561 ตามที่ได้สัญญาไว้






















*********************
ชาติชาย คเชนชล : 13 มิ.ย.2559