วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โครงการพัฒนาร่วมพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา "Green-Belt Area" ความฝันที่อาจเป็นจริง

ขณะที่ผมกำลังค้นหาหนังสือเก่าๆ เกี่ยวกับการทำงานด้านทุ่นระเบิด เผอิญไปพบเอกสารถ่ายสำเนา "โครงการพัฒนาร่วมพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา" บนกระดาษที่มีเส้นบรรทัดเขียนด้วยลายมือของ พลเอก ดร.วสุ ชนะรัตน์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ท่านแรก โดยท่านดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.2542-2544 น่าสนใจครับ! ท่านเขียนเอาไว้เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2555 แต่ดูเหมือนว่าโครงการฯ นี้จะไม่มีใครให้ความสนใจเท่าใดนัก  

ผมเลยอยากนำแนวคิดของท่านมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้ทราบทั่วกัน ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารบ้านเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ลองอ่านดูนะครับ

โครงการพัฒนาร่วมพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
หลักการและเหตุผล
  1. ไทยและกัมพูชา มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกันยาวประมาณ 700 กิโลเมตร มีทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างเป็นจำนวนมาก ทั้งในเขตไทยและเขตกัมพูชา อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและภัยสงครามในอดีต ราษฎรของทั้งสองประทศบาดเจ็บล้มตาย ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่ต้องฟื้นฟู เยียวยา แก้ไขให้สิ่งแวดล้อมคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว
  2. ทั้งไทยและกัมพูชา ลงนามและให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 ทั้งสองประเทศต่างจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมขึ้น เพื่อดำเนินการตามพันธกิจในอนุสัญญาดังกล่าวของกัมพูชาชื่อ ซีแมค (CMAC = Cambodian Mine Action Center) เป็นองค์กรมหาชน ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ของไทยชื่อ ทีแมค (TMAC = Thailand Mine Action Center) ในองค์อุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นหน่วยเฉพาะกิจในกองบัญชาการกองทัพไทย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ดูแลด้านนโยบาย กระทรวงกลาโหมเคยเสนอให้ยกสถานะของทีแมค เป็นองค์การมหาชนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่เรื่องก็ตกไปเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล
  3. ในปัจจุบัน ไทยและกัมพูชา มีข้อตกลงที่จะเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันเฉพาะในบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร และพื้นที่ทับซ้อนข้างเคียง ทั้งสองฝ่ายกำลังยกร่างงานธุรการร่วม หน่วยปฏิบัติการในสนามคือ ทีแมคและซีแมค รวมทั้งหน่วยเก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือน ภายใต้การช่วยเหลือจากต่างประเทศ
  4. ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ดี และผู้นำในระดับรัฐบาลสามารถไปมาหาสู่เพื่อเจรจาทำข้อตกลงร่วมกันได้ กอร์ปกับในปี พ.ศ.2558 จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (เออีซี) ซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มประเทศอาเซียนทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งด้านสังคมจิตวิทยาจะเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยเหมาะที่จะเป็นประตูด่านหน้าของเออีซี ในการเจรจากับกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจ ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลไทยในทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ สามารถกระตุ้นความสนใจของประเทศต่างๆ ในระดับโลกได้ จะเป็นผลดีต่อรัฐบาลไทยในฐานะประเทศผู้นำตามธรรมชาติ ที่มิตรประเทศในกลุ่มเออีซีให้การยอมรับ เพราะต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทุกแง่มุม อย่างทัดเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
  5. จึงนับว่าเป็นโอกาสดีของทั้งไทยและกัมพูชา ที่จะหยิบยกปัญหาร่วมด้านทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดตกค้างบริเวณแนวชายแดนของทั้งสองประเทศมาทำข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) เป็น กรอบยุทธศาสตร์ระยะยาวที่เสริมสร้างความเจริญและความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศ กระทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อความผาสุกและความอยู่ดีกินดีของประชาชน ช่วยกันกวาดล้างวุตถุอันตรายตลอดแนวชายแดนยาวประมาณ 700 กิโลเมตรดังกล่าว โดยไม่หยิบยกเอาปัญหาการปักปันเขตแดนซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ในบางพื้นที่ มาเป็นอุปสรรค์ขัดขวางการพัฒนาชายแดน ให้เป็นพื้นที่ปลอดทุ่นระเบิดและพัฒนาร่วมไทย-กัมพูชา ตั้งแต่เจ้าฟ้าหญิงไดแอนน่าสิ้นพระชนม์ ยังไม่มีผู้ใดกระตุ้นสังคมโลกให้สนใจแก้ปัญหาทุ่นระเบิดตกค้าง (Hidden Killers) ตามอนุสัญญาออตตาวาได้เลย นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยจึงมีโอกาสที่จะรับภารกิจระดับโลกชิ้นนี้ โดยริเริ่มกิจกรรมร่วมแบบเบ็ดเสร็จที่ชายแดนไทย-กัมพูชาตลอดแนว แปลงพื้นที่อันตรายเป็นพื้นที่ที่มีผลผลิตด้านต่างๆเลี้ยงดูชาวโลกได้ต่อไปในลักษณะคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ซึ่งไทยมีประสบการณ์อยู่แล้วในด้านนี้ แต่ยังขาดพื้นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอ
  6. อนุสัญญาออตตาวา กำหนดกิจกรรมหลักด้านมนุษยธรรมไว้ 4 กิจกรรมคือ
    1. การแจ้งเตือนและให้ความรู้ (Mine Awareness)
    2. การช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Mine Victims Assistance)
    3. การกวาดล้างทุ่นระเบิด (Mine Clearance)
    4. การพัฒนาพื้นที่ (Area Development)
  7. กิจกรรมที่ใช้เวลามากที่สุดคือกิจกรรม 6.3 ซึ่งต้องทำด้วยความรอบคอบได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งในขณะนี้ทั้งไทยและกัมพูชามีความสามารถอยู่แล้ว และมีการวิจัยพัฒนาเครื่องมือร่วมกับรัฐภาคีอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมที่องค์การสหประชาชาติกรุงเจนีวาทุกปี ข้อแตกต่างระหว่างสองประเทศ ก็คือ ขณะที่ซีแมคเป็นองค์การมหาชนตามมาตรฐานสากล  แต่  ทีแมคของไทย ยังคงเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่ฝ่ายทหารดูแล  ซึ่งจุดอ่อนคือรัฐภาคีบางรัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ และกำลังพลที่ฝึกอบรมแล้วมีโอกาสโยกย้ายอยู่เสมอ หาผู้ที่ย้ายเข้ามาบรรจุทดแทนยาก และต้องฝึกอบรมกันใหม่ทำให้สิ้นเปลืองและเสียเวลา จึงสมควรปรับสถานะของทีแมคให้เป็นองค์การมหาชน ทัดเทียมกับซีแมคของกัมพูชาจึงจะมีความคล่องตัวและต่อเนื่องในการปฏิบัติงานร่วมกันในระยะยาว และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
  8. กิจกรรมที่ปฏิบัติได้ทันที โดยใช้องคาพยพขององค์กรต่างๆทั้งของฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาคือกิจกรรม 6.1,6.2,และ 6.4
  9. กิจกรรม 6.1 ได้แก่การล้อมรั้วติดป้ายแจ้งเตือนพื้นที่อันตรายตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ เกี่ยวกับพิษภัยและหลีกเลี่ยงอันตราย รวมทั้งการให้ข้อมูลการรายงานเหตุการณ์ต่อเจ้าหน้าที่
  10. กิจกรรม 6.2 ได้แก่ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเยียวยา(เพราะเป็นอุบัติภัยที่มีผลสืบเนื่องมาจากฝ่ายรัฐ) การฝึกอาชีพต่อผู้ประสบภัยและครอบครัว
  11. กิจกรรม 6.3 ได้แก่การสำรวจพื้นที่อันตราย การพิสูจน์ทราบขอบเขตของสนามทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดตกค้างอยู่ในพื้นที่ การเก็บกู้ การทำลาย การตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้วตามมาตรฐานสากล การรายงานผลการปฏิบัติงานต่อที่ประชุมอนุสัญญาออตตาวาในองค์การสหประชาชาติ ประจำปี เป็นต้น
  12. กิจกรรม 6.4 ได้แก่การพัฒนาพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้วในด้านสาธารณูปโภค ด้านเศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ตลอดแนวชายแดนร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา เช่นการทำคอนแทรคฟาร์มิ่ง ด้านปศุสัตว์ พืชเศรษฐกิจ พืชเชื้อเพลิงเขียว พืชทดแทนน้ำมันจากฟอสซิลฯลฯ เป็นการสร้างงาน สร้างความมั่นคงอย่างสันติวิธีร่วมกันที่พื้นที่ชายแดน เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวจำนวนมากจะหยุดอยู่ที่ชายแดน แทนที่จะทะลักเข้ามาในเขตภายในมากเกินไป
  13. พื้นที่ที่พัฒนาร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา อาจกำหนดกรอบความลึกข้างละ 5 กิโลเมตร รวมความลึก 10 กิโลเมตร ความยาวตลอดแนวจากจังหวัดตราดถึงจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งยาวประมาณ 700 กิโลเมตร  หรือ 4,375,000 ไร่
  14. หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ อาจเป็นต้นแบบกับพื้นที่ชายแดนที่มีพื้นที่เชื่อมต่อกันทางบก ระหว่างไทย-ลาว ไทย-พม่า และไทย-มาเลเซีย ได้ต่อไป ความเป็นปึกแผ่นและความสันติสุขร่วมกันระหว่าง 5 ประเทศ ซึ่งมีไทยเป็นศูนย์กลางจะติดตามมา เป็นตัวอย่างของการใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม แห่งการมีโครงการด้านมนุษยธรรมต้อนรับปี 2558 ของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่เป็นรูปธรรม ได้ประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ฝ่ายไทยจัดการโดยทีแมคที่เป็นองค์การมหาชน




วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ลึกเข้าไปด้านละ 5 กิโลเมตร  เป็นเขตเศษฐกิจร่วมตลอดแนวชายแดน บริหารจัดการร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา โดยจัดทำเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) มีผลบังคับใช้ เมื่อรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา


เป้าหมาย 
คณะกรรมการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่งตั่งคณะอนุกรรมการยกร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ(เอ็มโอยู) ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นเขตเศรษฐกิจร่วม ลึกเข้าไปด้านละ 5 กิโลเมตร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธานอนุกรรมการ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเจรจากับฝ่ายกัมพูชา เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบจากรัฐสภาของแต่ละฝ่าย จัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ.2556-พ.ศ.2560)ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2556

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. พื้นที่ชายแดนไทย และพื้นที่ชายแดนกัมพูชา เนื้อที่ 7,000 ตารางกิโลเมตร (4,375,000 ไร่) เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีพ ปลอดทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดตกค้าง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและสงครามในอดีต
  2. ผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดและครอบครัว ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรฐานสากล จากรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และมิตรประเทศ
  3. เกิดระบบพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วม ในลักษณะคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ที่ให้ผลผลิตสูง ที่ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของโครงการทำสัญญากับภาคเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย
  4. ทีแมคได้รับการยกสถานะเป็นองค์การมหาชน ภายใต้นายกรัฐมนตรี บริหารจัดการโครงการนี้ในฐานะตัวแทนรัฐบาลฝ่ายไทย


ลงชื่อ
พลเอก ดร.วสุ ชนะรัตน์
ผู้ยกร่างโครงการฯ          
27 ต.ค.2555

**************************